ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567

SETA 2024สัปดาห์แห่งความยั่งยืน..ไปกัน

 SETA 2024สัปดาห์แห่งความยั่งยืน..ไปกัน

ยิ่งใหญ่ งานสัปดาห์แห่งความยั่งยืน SETA 2024 และ SustainAsia Week 2024  ดันไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนและเอเชีย



เริ่มแล้ว! งานใหญ่แห่งปี ในงานสัปดาห์แห่งความยั่งยืน SETA 2024 และ  SustainAsia Week 2024 ภายใต้แนวคิดLow Carbon & Sustainable ASEAN Economy ระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2567 ณ ฮอลล์ EH100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จัดโดย บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประธานการจัดงาน SETA 2024 และ SustainAsia Week 2024 กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในยุคที่อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต และผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2040 เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCS) และเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอน การใช้ประโยชน์และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ (CCUS) จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย งานนี้เป็นโอกาสที่ไทยและนานาชาติจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดและไฟฟ้าสีเขียว ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดมลพิษ และสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและเศรษฐกิจ  ในงานนี้ มีผู้ร่วมแสดงนิทรรศการมากกว่า 300 บริษัท จาก 50 กว่าประเทศทั่วโลก

ภายในงาน ได้จัดนิทรรศการเทคโนโลยีด้านพลังงานและการขนส่งยุคใหม่สุดล้ำ และการประชุมสัมมนาวิชาการเกาะติดเทรนด์สุดฮอตของโลก ไฮไลท์สำคัญ การประชุม Asia CCUS Network Forum ครั้งที่ 4 ผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในภูมิภาค พร้อมเปิดเวที โครงการขับเคลื่อน มองไกล เพื่อชุมชนที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมการจัดงาน 7 งานภายใต้แนวคิดหลัก Low Carbon & Sustainable ASEAN Economy ประกอบด้วยงานดังนี้

1.) งานแสดงพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย (Sustainable Energy Technology Asia 2024 : SETA 2024)

2.) งานแสดงเทคโนโลยีแสงอาทิตย์และระบบการกักเก็บพลังงาน (Solar+Storage Asia 2024 : SSA 2024)

3.) งานยานยนต์อนาคตของเอเชีย(Sustainable Mobility Asia 2024 : SMA2024)

4.) งานฟอรั่มในระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำ ในภาคตะวันออกและอาเซียน The Fourth Asia CCUS Network Forum (ACNF#4) จัดภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน ERIA และ IEEJ ประเทศญี่ปุ่น

5.) งานประชุมวิชาการเรื่องเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ครั้งที่ 1 (The Thai Photovoltaic Science and Engineering Conference :Thai PVSEC-1) โดยคณะกรรมการ PVSEC-36 สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย และ SETA เพื่อสร้างเวทีนําเสนอผลงานทางวิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ของ ประเทศไทย และการเตรียมความพร้อมสําหรับการจัดงาน PVSEC ครั้งที่ 36 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

6.) Energy job fair : Energy Job Fair เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ค้นหางานที่น่าสนใจกว่า 5,000 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน, พลังงาน CSR และเทคโนโลยี พร้อมด้วยกิจกรรมให้ความรู้อย่างและตัวช่วยในการสมัครงาน (Resume Clinic) จาก Jobsdb by SEEK และไฮไลท์ที่น่าสนใจอีกมากมาย

7.) Sustainable Day : Leave Your Carbon Behind, Not People. พื้นที่กิจกรรมและเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนในแง่มุมของธุรกิจกับความยั่งยืนว่า ในโลกที่เผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจก็ตาม กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือมีความเปราะบางทางสังคมจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นกลุ่มแรกเสมอ พื้นที่กิจกรรมนี้จึงตอกย้ำความตั้งใจที่ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถก้าวไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อม และผู้คนในสังคมได้อย่างยั่งยืนโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เวทีที่น่าสนใจ คือ โครงการขับเคลื่อน มองไกล เพื่อชุมชนที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Empowering Communities: Engaging Citizens in Local Sustainability Initiatives) โดยทำโปรแกรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อการตระหนัก เรียนรู้ และนำไปใช้ต่อยอดได้จริง ในการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อพลังงานสะอาด เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนไปพร้อมกับทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวที่เว็บไซต์ www.setaasia.com www.SolarStorageAsia.com และ www.sustainasiaweek.com

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2567

วช.โชว์โดรนแปรอักษรช่วงหยุดวันแม่แห่งชาติ

 วช.โชว์โดรนแปรอักษรช่วงหยุดวันแม่แห่งชาติ

วช.นำทีมโดรนลงหาดชะอำ ร่วมกับ เทศบาลเมือง ททท.เพชรบุรี  เปิดน่านฟ้า อวดนวัตกรรมโดรนแปรอักษร 500 ลำ ฉายภาพสัญลักษณ์แหล่งท่องเที่ยว เสริมกิจกรรมหยุดยาววันแม่แห่งชาติ


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เทศบาลเมืองชะอํา สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพชรบุรี พร้อมด้วยสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำการแสดงบินโดรนแปรอักษรขึ้นเหนือท้องฟ้าบริเวณหาดชะอำ เพื่อร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นประธาน  นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ควบคุมการจัดแสดงบินโดรนแปรอักษรที่บริเวณหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567  ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลวันแม่แห่งชาติ





ดร.วิภารัตน์ กล่าวเทคโนโลยีโดรนและการพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร ได้สร้างโอกาสของการนำนวัตกรรม การใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ที่ได้มีการตอบรับที่ดีจากจ.เพชรบุรี

นางทนาดา วิจักขณะ รอง ผอ.ททท.สำนักงานเพชรบุรี กิจกรรมโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวครั้งนี้จะกระจายรายได้สู่ประชาชน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจ.เพชรบุรี


การแสดงบินโดรนครั้งนี้เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว จัดแสดงบินโดรนแปรอักษรมากกว่า 500 ลำ แบ่งการแสดงเป็น 2 ชุด  ได้แก่ ภาพชุดการแสดงที่ 1) ภาพเรือใบ ภาพดำน้ำดูปะการัง ภาพม้าน้ำ ภาพกระทรวง อว. ภาพ วช. ภาพเทศบาลเมืองชะอำ ภาพ จ.เพชรบุรี และ ภาพ amazing Thailand ต่อด้วย ภาพชุดการแสดงที่ 2) อาทิ ภาพบอลลูน ภาพม้าหมุน ภาพชิงช้าสวรรค์ ภาพรถไฟเหาะ ภาพส่งกำลังใจให้นักกีฬา ภาพเทศบาลเมืองชะอำ เป็นต้น การแสดงบินโดรนในครั้งนี้ ได้แสดงถึงสัญลักษณ์ของพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีที่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ มีประชาชนมารอชมนวัตกรรมโดรนแปรอักษรฝีมือคนไทยในช่วงวันหยุดเทศกาลวันแม่ต่อเนื่องจำนวนมาก


การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นายนุกูล พรสมบูรณ์ศิริ นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ นายฤกษ์ อยู่ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)จ.เพชรบุรี นางทนาดา วิจักขณะ รอง ผอ.ททท.สำนักงานเพชรบุรี และผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วม

ชลประทานนำงานวิจัย วช.จัดการลุ่มน้ำ

 ชลประทานนำงานวิจัย วช.จัดการลุ่มน้ำ

วช. ร่วมกับกรมชลประทาน นำผลงานวิจัยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ลุมน้ำสำคัญ ภายใต้ MOU และกรอบความร่วมมือ


รายงานข่าวแจ้งว่า ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ขับเคลื่อนและขยายผลงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่กรมชลประทาน  เมื่อวันที่ 9 สค.67

ลงนาม

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช.ได้สนับสนุนทุนเพื่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization: RU) ต้องการความร่วมมือในการขยายผลงานวิจัยจากกรมชลประทาน รวมถึงหน่วยงานเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยที่เป็นต้นทาง ในการทำงานควบคู่กันเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การบูรณาการทุกมิติ เช่น การวางแผนการใช้น้ำผ่านกลไกความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

นายชูชาติ กล่าวว่า กรมชลประทาน พร้อมขับเคลื่อน ขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ มีนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บูรณาการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำ แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ลดผลกระทบที่จะเกิดอย่างทันท่วงที

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผอ.แผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (RU) ด้านการบริหารจัดการน้ำ วช. กล่าวว่าการลงนามครั้งนี้ เพื่อร่วมมือกับกรมชลประทานต่อยอดผลสำเร็จจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ มีกลไกการกำกับ สนับสนุนการทำงานร่วมกัน เพื่อการถ่ายทอดผลสำเร็จของโครงการวิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการร่วมกันกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และโครงการชลประทานวังบัว เป็นตัวอย่างที่จะทำให้เกิด feedback ที่จะนำมาพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับบริบทการทำงานที่หน้างาน เพื่อง่ายต่อเจ้าหน้าที่ในช่วงสามปีจากนี้ไป

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวฯ เป็นการร่วมมือของสองหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลงานวิจัยด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถและพัฒนากลไกในบริหารจัดการน้ำระดับในระดับหน่วยงานที่จะเชื่อมโยงถึงท้องถิ่น – จังหวัด-ลุ่มน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศให้ดีขึ้น

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567

12 สค.ฝนดาวตกคืนวันแม่

 12 สค.ลุ้นฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์คืนวันแม่

สดร. (NARIT) ชวนชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกวันแม่ (เพอร์เซอิดส์) ประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง คืนวันแม่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้า 13 สิงหาคม 2567 หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ไร้แสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน ดูตาเปล่าได้ทุกภาค


นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผอ.ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า คืนวันที่ 12 สิงหาคม 2567 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือที่เรียกฝนดาวตกวันแม่ ศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้คาดว่าอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลา 23:00 น. ของคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2567 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2567


ปรากฏการณ์ปีนี้จะตรงกับช่วงดวงจันทร์กึ่งข้างขึ้น ช่วงค่ำยังมีแสงจันทร์รบกวน เวลาที่เหมาะสมสำหรับสังเกตการณ์ ช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ที่ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว แนะชมบริเวณห่างจากตัวเมือง หรือที่ไม่มีแสงรบกวน วิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากสภาพอากาศดี ฟ้าใสไร้ฝน ก็ชมฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝน และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ หากพลาดชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ยังสามารถติดตามชมฝนดาวตกอื่น ๆ ได้ เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี 


ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม - 24 สิงหาคมของทุกปี แมีอัตราการตกสูงสุดช่วงวันที่ 12 - 13 สิงหาคม มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีผลกระทบต่อโลก

ฐานยิงจรวดหลายลำกล้องฝีมือ สทป

 ฐานยิงจรวดหลายลำกล้องฝีมือ สทป.

 เอาจริง ส่งมอบต้นแบบรถฐานยิงจรวดรองรับจรวดใหญ่สุด 370 มม.งานวิจัยพัฒนาของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ให้กรมทหารปืนใหญ่ 71 ทดสอบ สุทิน คลังแสง แจงงานวิจัยมุ่งสู่การผลิตขาย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ


         เมื่อ วันที่ 9 ส.ค. 2567 ที่ศาลาอเนกประสงค์ สนามกีฬากองพลทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ได้มีพิธีส่งมอบต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ (Multi-Purpose Launcher) ให้กับกองทัพบกโดยกองพลทหารปืนใหญ่ (กรมทหารปืนใหญ่ที่ 71 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711) เป็นหน่วยทดสอบทดลองใช้งาน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานส่งมอบ พล.อ.ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผอ.การสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นผู้ส่งมอบฯ ให้กับ พล.ต.วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ ผู้แทนกองทัพบก เพื่อนำไปทดสอบทดลองใช้งานในกองพลทหารปืนใหญ่ (กรมทหารปืนใหญ่ที่ 71 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711)


สทป.และ กองทัพบก ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ (Multi-Purpose Launcher) โดยนำนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เป็นแนวทางการวิจัยและพัฒนาต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ รองรับจรวดขนาด 122 มิลลิเมตร(มม.) ระยะยิง 40 กิโลเมตร(กม.) จรวดขนาด 306 มม.ระยะยิง 150 กม. และจรวดขนาด 370 มม. ระยะยิง 300 กม. การวิจัยและพัฒนาเป็นการออกแบบ สร้างชิ้นส่วน การประกอบรวมรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ ตามความต้องการของกองทัพบก เพื่อเป็นอาวุธระยะยิงไกลได้ทั้งระดับยุทธวิธี ยุทธการ และระดับยุทธศาสตร์ ปัจจุบัน กองทัพบก ได้รับมอบต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ฯ ให้กองพลทหารปืนใหญ่ (กรมทหารปืนใหญ่ที่ 71 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711) เป็นหน่วยทดสอบใช้งาน         


         นายสุทิน กล่าวว่าเป็นการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ เข้าสู่ภาคการผลิตและขาย ลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตยุทโธปกรณ์ของหน่วยงานในประเทศให้เข้าสู่สายการผลิต จำหน่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


ในพิธีดังกล่าว พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567

NARIT SCIENCE WEEK 2024

 12-18 สค.เที่ยว NARIT SCIENCE WEEK 2024

จัดใหญ่  เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สงขลา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) ชวนเที่ยวฟรี งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ “NARIT Science Week 2024” จัดพร้อมกัน 5 ที่ Astroเชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาค โคราช ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สงขลา 


นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สดร.​จัดงานNARIT Science Week 2024 สัปดาห์วิทยาศาสตร์ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 12-18 สค.67 กิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์พร้อมกัน 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา เวลา 09:00-17:00 น. ชมท้องฟ้าจำลอง ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ นิทรรศการดาราศาสตร์แบบ Interactive กิจกรรม เวิร์กช็อป โชว์วิทยาศาสตร์ ลุ้นของรางวัล คืนวันเสาร์ที่ 17 สค.67 เวลา 18:00-22:00 น. ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวทุกแห่ง

อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ :ท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล และภาพยนตร์ดาราศาสตร์  Walk Rally นิทรรศการดาราศาสตร์ NARIT จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ท่องนิทรรศการ Moon 3D ปฏิบัติภารกิจ Mission to the moon และ Fly me to the moon สำหรับเด็ก ๆ และครอบครัว เพลิดเพลินกับโซน KIDS & FAMILY กิจกรรมปริศนาอวกาศ แต่งแต้มเติมสีจักรวาล และสีสันแห่งเอกภพ  วันที่ 17-18 ส.ค. 67 เวิร์กช็อปตลอดวัน กล (ไม่) ลับ ฉบับนักวิทย์ ภารกิจระเบิดหลุมดวงจันทร์ ไขรหัสลับสุดขอบจักรวาล และบิงโกดาราศาสตร์ สอบถามรายละเอียด โทร. 084-0882261 

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา : หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งแรกของ NARIT มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ชมท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล และนิทรรศการดาราศาสตร์ กิจกรรมพิเศษ  รู้จักกล้องโทรทรรศน์ อุปราคาท้าประดิษฐ์ อวกาศจ้อจี้ จรวดลอดห่วง จรวดขวดน้ำ จิ๊กซอว์ดาราศาสตร์ บิงโกดาราศาสตร์ จินตนาการสีสันดาราศาสตร์ โชว์วิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ สอบถามรายละเอียด โทร. 086-4291489

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น : หอดูดาวน้องใหม่ล่าสุดของ NARIT ที่ต.เขื่อนอุบลรัตน์ ชมท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ สนุกกับกิจกรรมพิเศษ Stellar Light Box ประดิษฐ์กล่องดวงดาว Astro Bingo บิงโกดาราศาสตร์มหาสนุก Walk Rally ล่าแต้มหาขุมทรัพย์ เครื่องบินกระดาษสู่โลกกว้างบนดวงจันทร์ ภารกิจค้นหาเศษดวงจันทร์ที่หายไป ภารกิจปล่อยจรวดสู่ดวงจันทร์ สำหรับเด็ก ๆ โซน KIDS & FAMILY กับกิจกรรมกำไรดวงดาวพราวแสง สีสันจักรราศี และแต่งแต้มจักรวาล สอบถามรายละเอียด โทร. 063-8921854   

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวแห่งภาคตะวันออก เพียง 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ชมท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ นิทรรศการดาราศาสตร์ กิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โคมไฟดวงดาว เรียงร้อยกลุ่มดาว จรวดหลอด จรวดลม สไลม์อวกาศ โลกและดวงจันทร์ การแยกแสงทางดาราศาสตร์ ดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ชนิดพิเศษ บิงโกดาราศาสตร์ แข่งขันต่อหอคอย และโชว์วิทยาศาสตร์อันน่าตื่นเต้น สอบถามรายละเอียด โทร. 084-0882264

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา : หอดูดาวแห่งภาคใต้ ตั้งอยู่บนเขารูปช้างใจกลางเมืองสงขลา ชมความสวยงามของวิวทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา ท้องฟ้าจำลองฟูลโดมดิจิทัล ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ และนิทรรศการดาราศาสตร์ พิเศษเฉพาะสัปดาห์วิทยาศาสตร์นี้ พาเหรดเวิร์กช็อปและกิจกรรมดาราศาสตร์ อาทิ Astro Quiz Games พวงกุญแจดาราศาสตร์ DIY เฟสดวงจันทร์จากแก้วพลาสติก DIY เกมบิงโกดาราศาสตร์ ถอดรหัสจักรวาล ประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษ ดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ชนิดพิเศษ ประกอบกล้องโทรทรรศน์อย่างง่าย ปล่อยจรวดสู่ดวงจันทร์ ฟองสบู่หรรษา แต่งแต้มจักรวาล และโชว์วิทยาศาสตร์สุดพิเศษ โทร. 095-1450411


เสวนาพิเศษทิศทาง-อนาคต ดาราศาสตร์และอวกาศไทยค่ำวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567 เวลา 18:30-19:30 น. ที่ท้องฟ้าจำลอง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ร่วมล้อมวงพูดคุยกับ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดร. วิภู รุโจปการ รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.​ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร. พงศธร สายสุจริต ผู้จัดการโครงการ TSC-1 ฟรี!  ลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/3WTkhe8 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือเพจเฟซบุ๊กของหอดูดาวแต่ละแห่ง โรงเรียนที่สนใจนำนักเรียนเข้าชมเป็นหมู่คณะ ประสานงานโดยตรง จองรอบท้องฟ้าจำลองล่วงหน้าทางเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละหอดูดาวที่แจ้งไว้ข้างต้น ทุกกิจกรรมเข้าร่วมฟรี ยกเว้นการเข้าชมท้องฟ้าจำลอง มีค่าธรรมเนียม เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2567

‘ชริมป์การ์ด’งานวิจัยเพื่อกุ้งปลอดโรค ปลอดยาปฏิชีวนะ

‘ชริมป์การ์ด’วิจัยเพื่อกุ้งปลอดยาปฏิชีวนะ

ยกระดับอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงในไทยและอาเซียน

ชริมป์การ์ด งานวิจัยพัฒนาสูตรผสมใหม่ สารชีวภาพแบคทีริโอฟาจ สู้แบคทีเรียดื้อปฏิชีวนะพัฒนากุ้งพรีเมียมปลอดโรค ปลอดภัยและปราศจากยาปฏิชีวนะเพื่อยกระดับสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค  


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมวิจัยจาก กรมประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวโครงการความร่วมมือ ‘ชริมป์การ์ด’ (ShrimpGuard): การพัฒนาสูตรผสมของแบคทีริโอฟาจ (bacteriophage) หรือฟาจ (phage) และสารเสริมชีวนะเพื่อต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย Vibrio spp. ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกุ้งเลี้ยง หรือชริมป์การ์ด ได้รับทุนสนับสนุน 41,605,962 บาท จากศูนย์วิจัยการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Research Centre: IDRC) ประเทศแคนาดา และกระทรวงสาธารณสุขและสังคม (Department of Health and Social Care) แห่งสหราชอาณาจักร ระยะเวลาดำเนินการ 32 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2569



‘ชริมป์การ์ด’ เป็นสารชีวภาพที่นำมาใช้ป้องกันและควบคุมเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในระหว่างการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะต้นเหตุของการเกิดเชื้อดื้อยาในการเลี้ยงกุ้ง สามารถพัฒนากุ้งพรีเมียมปลอดโรค ปลอดภัยและปราศจากยาปฏิชีวนะเพื่อยกระดับสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค 

ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ไบโอเทค และหัวหน้าโครงการ ‘ชริมป์การ์ด’ กล่าวว่า ทีมวิจัยดำเนินโครงการพัฒนาสารชีวภาพที่เรียกชริมป์การ์ด แบคทีริโอฟาจ (bacteriophage) หรือไวรัสที่มีประสิทธิภาพในกาทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในกุ้งอย่างจำเพาะเจาะจง ไม่ส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในระบบการเลี้ยงกุ้งและในลำไส้กุ้ง ภายใต้โครงการนี้ ชริมป์การ์ด จะพัฒนาให้ใช้ได้ทั้งในน้ำเลี้ยงกุ้งและในสูตรอาหารกุ้ง ด้วยนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความคงตัวของชริมป์การ์ด

รศ.ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ โอราน

รศ.ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ โอราน ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการร่วมในโครงการวิจัย กล่าวว่าการพัฒนาสูตรอาหารกุ้งจะพัฒนาชริมป์การ์ด ร่วมกับการพัฒนาสารชีวภาพอื่นอีก 3 ชนิดที่มีรายงานการวิจัยว่ากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งให้มีความแข็งแรงต้านการก่อโรคของเชื้อแบคทีเรีย สูตรอาหารนี้จะนำไปใช้ในการเลี้ยงลูกกุ้งเพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการเลี้ยง

ข่าวแจ้งว่า โครงการให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายการสนับสนุนแนวทางการใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลร่วมกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดย ดร. กัลยาณ์ กล่าวว่าจะพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกับศูนย์เครือข่ายสุขภาพสัตว์น้ำแห่งอาเซียน (ASEAN Network on Aquatic Animal Health Centres: ANAAHC) ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง เป็นผู้นำศูนย์เครือข่าย โครงการวิจัยนี้มีคณะที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในสัตว์น้ำจากองค์กรทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (NACA) และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) อีกด้วย


นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเคยเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่อันดับสองของโลก มีการเพาะเลี้ยงในประเทศมากกว่า 90% แต่เสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศคู่แข่งเช่นเวียดนามและจีน เนื่องจากโรคระบาดในกุ้ง การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะต่าง ๆ การห้ามส่งออก และนโยบายการค้าที่ไม่เอื้ออำนวย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกทำให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพและอัตราการรอดของกุ้ง เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง

โดยโรค Vibriosis จากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio spp. เป็นปัญหาหลักที่ทำให้กุ้งตายในฟาร์มเลี้ยงและโรงเพาะฟัก เกษตรกรจึงใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีเพื่อควบคุมเชื้อและป้องกันโรค แต่การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม หรือเกินขนาดนำไปสู่ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาและยีนดื้อยาในสภาพแวดล้อม รวมถึงการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อกุ้ง

ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาเพื่อลดปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน สวทช. โดย ดร. กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือไบโอเทค สวทช.  หัวหน้าโครงการชริมป์การ์ด ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมประมง ดำเนินโครงการ ‘ชริมป์การ์ด’ ซึ่งจะมีส่วนช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งให้มีความยั่งยืน ลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะแบบดั้งเดิม

ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยนี้จะเผยแพร่ผ่านเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ  กรมประมง และภาคเอกชน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและข้อมูลแก่เกษตรกร ใช้เป็นแนวทางทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเพาะเลี้ยงกุ้ง เพื่อสร้างกระบวนการเพาะเลี้ยงที่ยั่งยืนและปลอดภัยในระยะยาว

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2567

สวนดุสิตลุ้นร้านอาหารสู่มิชลินสตาร์

 สวนดุสิตลุ้นร้านอาหารสู่มิชลินสตาร์

ม.สวนดุสิตต่อยอดฮับท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร เลือก จ.ระยอง จัดเวิร์คช็อปยกระดับพ่อครัวสู่การเป็นนวัตกรการบริหารมาตรฐานมิชิลิน เชฟดังร่วมผลักดันสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก

รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับ รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง ผู้บริหารโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติ นวัตกรรมกระบวนการยกระดับพ่อครัวสู่การเป็นนวัตกรการบริการ (CHEF INNOVATOR) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสู่มาตรฐานมิชิลิน (MICHELIN)  โดยหน่วยงานใน จ.ระยอง ได้แก่ อบจ.ระยอง สภาอุตสาหกรรมจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานระยอง การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด สมาคมธุรกิจร้านอาหารในจังหวัด และเครือข่ายร้านอาหารในจังหวัดระยองกว่า 80 ร้าน เข้าร่วม โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  

รศ. ดร.พรรณีเปิดเผยว่า ปี 2567 จะต่อยอดองค์ความรู้ของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ประกอบการอาหารกว่า 100 คนทั่วโลก เพื่อผนึกกำลังพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันอาหารไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก โดยครั้งนี้ระดมสร้างเครือข่าย จัดเก็บองค์ความรู้ และบูรณาการข้อมูลกับภาคีเครือข่ายการวิจัยทั่วโลก เพื่อยกระดับอาหารชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร

จึงได้จัดทำโครงการอบรมหลักสูตร แนวทางการพัฒนาร้านอาหารสู่การรับรองมาตรฐานมิชลิน โดยนายศุภกิจ ตระกิจเจริญ เจ้าของร้านนายอ้วนเย็นตาโฟ มิชิลิน 4 ปีซ้อน หลักสูตร การจัดตกแต่งอาหาร โดยเชฟประชัน วงค์อุทัย เชฟระดับ Top ของประเทศไทยร่วมกับอาจารย์เป็นเอก ทรัพย์สิน และการอบรมการประยุกต์ใช้เทคนิคโมเลคูลาร์เพื่อเพิ่มมูลค่าในการนำเสนออาหาร โดยเชฟสุรศักดิ์ เจริญจันทร์ อดีตเชฟโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ร่วมกับเชฟนาวี บุญยิ้ม หัวหน้าเชฟร้าน Le Boeuf

การฝึกอบรมได้รับความสนใจจากสมาชิกเครือข่ายร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ภาคตะวันออกมากกว่า 100 คน

ทั้งนี้ พันธกิจที่สำคัญของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร คือ การพัฒนาทักษะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารเชิงปฏิบัติการให้สามารถประกอบการอาหารที่มีมาตรฐานและปลอดภัย รวมถึงบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เอกชนสร้างนิเวศAIร่วมพัฒนาประเทศ

เอกชนสร้างนิเวศAIร่วมพัฒนาประเทศ

AI THAILAND FORUM 2024 งานใหญ่ปัญญาประดิษฐ์ไทย สตาร์ตอัปขนโปรเจกต์อวดตัวเพียบ SCBX ฉวย ‘Typhoon’ ภาษาไทยเทียบชั้น ChatGPT เจ้าดัง ให้ดาวน์โหลดฟรีล่วงหน้าก่อนงานกว่าสองเดือน


สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) แถลงข่าวการจัดงาน AI THAILAND FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด Sustainable Growth with AI ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) ระหว่างวันที่ 25 - 26 ต.ค. 67 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ภายในงานนำเสนอความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการ AI ประเทศไทย หัวข้อสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของประเทศไทยและนานาชาติ เปิดตัวโปรเจกต์ที่น่าสนใจของ Startup ไทย พร้อมทั้งร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดูรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ https://www.aithailandforum.com/

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร 

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวว่า AI Thailand Forum 2024 จะเป็นเวทีแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ ภายในงานมีพิธีมอบรางวัลกับผู้มีผลงานโดดเด่นด้านปัญญาประดิษฐ์ เป็นการยกย่องเชิดชูความสำเร็จ สร้างแรงบันดาลใจกับนักพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)กล่าวว่าบทบาท วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศบนฐานของ AI สอดรับกับแนวคิดการจัดงาน AI Thailand forum 2024 Sustainable Growth with AI ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เป็นโอกาสดีที่สวทช. จะนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ AI ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผลงานสำคัญ เช่น ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนากำลังคน ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้

สวทช. ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มีบทบาทการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570) สร้างและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศทุกมิติ ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนนโยบาย อว. For AI

นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Head of SCBX R&D Innovation Lab)บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) กล่าวว่า SCBX มุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนิเวศ AI ของประเทศด้านการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ล่าสุดได้เปิดตัว Typhoon Large Language Model ภาษาไทย ให้ใช้งานฟรี เป็นโมเดลเวอร์ชันพื้นฐานที่นำไปปรับแต่งและใช้งานต่อยอดได้ตามต้องการ หรือร่วมมือกับพันธมิตร และให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่าสมาคมมีโครงการ Super AI Engineer ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงกว่า 600 คน โครงการฯ ออกแบบหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติจริงเหมาะกับผู้เรียนทุกระดับ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีหลักสูตรสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกระดับอย่างยั่งยืน

เพิ่มเขตอุทยานฟ้ามืด18แห่ง

 ฟ้ามืดทรัพยากรท่องเที่ยวเปิดเพิ่ม18 จุด

ททท.+สดร.ประกาศขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเพิ่ม 18 จุด จาก30แห่งที่มี หมู่บ้าน เทศบาล ชานเมือง เอกชน เข้าร่วม สร้างประสบการณ์ใหม่ให้เมืองไทยเที่ยวได้ 365 วัน


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) ประกาศขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปี 2567 ในโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3เพิ่มอีก 18 แห่ง ให้เป็นพื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่อง สร้างกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความงามของธรรมชาติยามค่ำคืน

น.ส.สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท.กล่าวว่า AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3 เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ ด้วยความร่วมมือระหว่าง ททท. และ NARIT สนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นสินค้าการท่องเที่ยว ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience - based – Tourism เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 365 วัน

ททท.เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มความสนใจพิเศษ ผู้สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติ สัมผัสความสวยงามของท้องฟ้า ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศี และดวงดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน เติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยว สอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อการกระจายรายได้ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า NARIT ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 รณรงค์ให้ตระหนักถึงมลภาวะทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ ในปี พ.ศ. 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย 30 แห่ง

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย  1) อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในอุทยานแห่งชาติ 2) ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) ในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลาที่หมาะสม 3) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) เช่น รีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ 4) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) ลักษณะเป็นลานโล่ง ใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เพื่อสังเกตปรากฏการณ์และจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ 

เกณฑ์พิจารณาคัดเลือก ต้องมีพื้นที่โล่งไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร สังเกตการณ์ท้องฟ้าโดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ สังเกตเห็นดาวเหนือและดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุด หรือวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ด้วยตาเปล่าได้ มีผู้ให้บริการความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางคมนาคม ห้องนำ ที่พัก ร้านอาหาร จุดบริการไฟฟ้า ฯลฯ

ปีนี้มีพื้นที่ผ่านการคัดเลือก 18 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567  ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ 

 


รายชื่อสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 จำนวน 18 แห่ง มีดังนี้

 

อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)

1.สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

จ.เชียงใหม่

2. อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ

จ.แม่ฮ่องสอน

3. อุทยานแห่งชาติตาดโตน

จ.ชัยภูมิ

4. อุทยานแห่งชาติไทรทอง

จ.ชัยภูมิ

5. อุทยานแห่งชาติภูผายล

จ.สกลนคร

6. อุทยานแห่งชาติภูเวียง

จ.ขอนแก่น

 

ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities)

1. วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่

จ.นครราชสีมา

 

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)

1. ฉ่าเก่อปอ

จ.เชียงใหม่        

2. พร้าวแคมป์ปิ้งค์

จ.เชียงใหม่

3. ฮ่อมลมจอย

จ.เชียงราย

4. ภาวนานิเวศน์ แคมป์

จ.นครสวรรค์

5. ภูคำหอม เขาใหญ่

จ.นครราชสีมา

6. สวนไพลินชมดารา

จ.นครราชสีมา

7. อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง

จ.นครราชสีมา

8. โรงแรมโซเนวา คีรี

จ.ตราด

9. บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา

จ.พังงา

10. อธิ การ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง

จ.พังงา

 

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbes)

1. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี

จ.ชลบุรี

 

ดาวน์โหลดภาพเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยทั้ง 18 แห่ง และภาพพิธีมอบโล่ได้ที่ https://bit.ly/AmazingDarkskyinThailand-SS3