ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

EnPATน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์ม

 EnPATล้ำน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์มไทย

สวทช.เปิดนำร่องใช้‘EnPAT’น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันทดแทนน้ำมันแร่ ลดเสี่ยงไฟไหม้ หม้อแปลงระเบิด กฟภ.ทดสอบเข้มข้นใช้จริงกับชุมชนย่านชลบุรี  ผ่านสภาวะเร่งแล้วกว่า6,000 ชม. วางแผนขยายใช้ทั่วประเทศรวมถึง กทม. มุ่งสู่ Net Zero ปี เตรียมขอมาตรฐาน สมอ.เป็นฉบับแรก

น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมัน

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าว เปิดการนำร่องใช้ ‘EnPAT’ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 26 กค. 67

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์

ดร.สมบุญ กล่าวว่าได้ติดตั้งและนำร่องการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ’EnPAT’ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย เครื่องแรกร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 21 มีค. 67 เป็นความก้าวหน้าของไทย ในการสร้างนวัตกรรมสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างปาล์มน้ำมัน สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันที่ต้องการกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย ที่จะใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ สอดรับกับนโยบายของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2608

EnPAT มีคุณสมบัติเด่น จุดติดไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ ผลทดสอบการนำร่องใช้งานจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ

นายประสงค์ ดีลี ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม กฟภ. กล่าวว่า กฟภ.เป็นหน่วยงานแรกที่นำร่องติดตั้ง ใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุน้ำมัน ‘EnPAT’  เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารสำนักงานและบ้านเรือนของประชาชน ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี ติดตั้งเมื่อวันที่ 21 มีค.67 กฟภ.ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าภายใต้สภาวะใช้งานจริง และร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. ขยายผลการใช้งานน้ำมัน EnPAT  ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ มีเป้าหมายที่จะติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เพิ่มเติม ในพื้นที่ที่เหมาะสมทุกภูมิภาคของประเทศ

ประสงค์ ดีลี

ดร.สุมิตรา จรัสโรจน์กุล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยคิดค้นและพัฒนาต้นแบบ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทยตั้งแต่ปี 63 ผ่านการทดสอบต่างๆในห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบการเสื่อมสภาพในสภาวะเร่งที่มากกว่า 6,000 ชั่วโมง ทดสอบความสามารถการปกป้องกระดาษฉนวน ทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะเร่งโดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ด้านกระบวนการผลิต ได้ขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ สู่ขนาด 40 ลิตรต่อครั้ง ปัจจุบันพัฒนากำลังการผลิตได้ 400 ลิตรต่อครั้ง โดยกระบวนการผลิตอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงการผลักดันการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 3 แผนงาน แผนงานที่ 1 ใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ โดย 1.1ใช้งาน เครื่องแรกร่วมกับ กฟภ. 1.2 ขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ครอบคลุมทุกภูมิภาค 1.3 ใช้งานหม้อแปลง EnPAT ในกรุงเทพมหานคร โดยการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 1.4 ขยายการใช้งาน EnPAT ในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน กับมีแผนที่จะเปิดให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายต่างๆ ภายในประเทศเข้าร่วม  แผนงานที่ 2 นำ EnPAT ไปใช้กับหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะบรรจุด้วยน้ำมันแร่ โดยเมื่อถึงวงรอบการซ่อมบำรุง จะเปลี่ยนเอาน้ำมันแร่ที่เสื่อมออก ใส่น้ำมันหม้อแปลง EnPATทดแทน หากใช้ซ่อมบำรุงทดแทนน้ำมันแร่ได้ จะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันแร่สู่น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพทั้งหมด แผนงานที่ 3 พยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ 

ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ บพข.กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้แสดงถึงพลังของความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้นำไปใช้ ผลสำเร็จของโครงการจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการลงทุนในการวิจัยพัฒนาที่นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีมูลค่าสูง 



น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า EnPAT เป็นผลงานวิจัย “โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” โดยทีมวิจัยเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)


ส่วนโอลีโอเคมี (Oleochemical) คือ กระบวนการผลิตเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของไขมันพืชและสัตว์ เพื่อให้ได้สารที่ใช้งานได้หลากหลาย ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบมากในอุตสาหกรรมและงานวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น