ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Sinergia Animalทวงคืนยุติธรรมให้สัตว์วอนเลิกกินเนื้อ

 Sinergia Animalทวงคืนยุติธรรมให้สัตว์

วอนเลิกกินเนื้อ

Sinergia Animal องค์กรพิทักษ์สัตว์นานาชาติ ระดมนักกิจกรรมจาก 8 ประเทศ ชุมนุมลานคนเมือง เสาชิงช้า ทวงคืนความยุติธรรมให้สัตว์ในระบบผลิตอาหาร ยกตัวอย่างไก่ไขที่ไทยผลิตมากในเอเชีย ทำให้แม่ไก่นับล้านต้องมีชีวิตในกรง เรียกร้องให้เลี้ยงแบบไร้กรง วอนผู้บริโภค ลด ละ เลือกกินอาหารไร้เนื้อสัตว์ เปลี่ยนเป็นแพลนต์เบส


เมื่อวันที่ 31 กค.67  Sinergia Animal (ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล) องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับนานาชาติจากบราซิล นำนักกิจกรรม 44 ชีวิตจาก 8 ประเทศ ร่วมรณรงค์ ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ทวงคืนความยุติธรรมให้สัตว์ในระบบผลิตอาหาร เรียกร้องให้เลือกบริโภคอาหารอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ เมตตาต่อสัตว์ต่างๆ

แคโรลิน่า กาลวานี

แคโรลิน่า กาลวานี (Carolina Galvani) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์จากบราซิล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Sinergia Animal เปิดเผยว่ากิจกรรมครั้งนี้เพื่อย้ำเตือนให้ตระหนักว่าความทุกข์ของสัตว์ในฟาร์มไม่มีพรมแดน ทุกคนรับรู้ และรับผิดชอบร่วมกัน ไม่มองข้ามข้อเท็จจริงของระบบการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดในอุตสาหกรรมอาหาร หันมาเลือกบริโภคอาหารที่มีเมตตา ขอเรียกร้องให้มีมนุษยธรรมกับสัตว์ในระบบผลิตอาหารและเปลี่ยนแปลงระบบการเลี้ยงให้มีสวัสดิภาพที่ดี มากกว่าคำนึงถึงเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ 

แคโรลิน่า กาลวานี กล่าวอีกว่า ประเทศไทยผลิตไข่ไก่มากที่สุดในเอเชีย แสดงถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งมาพร้อมกับความทุกข์ของแม่ไก่นับล้านต้องใช้ชีวิตในกรง ลูกไก่ก็จะถูกตัดจงอยปาก ป้องกันการจิกกัน เป้าหมายของ Sinergia Animal คือเชิญชวนบริษัทและผู้ผลิตทั่วประเทศไทยให้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ อาทิ การเลี้ยงไก่แบบไร้กรงขัง เพื่อให้แม่ไก่มีพฤติกรรมต่าง ๆ ตามธรรมชาติ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไม่แออัด ปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงแหล่งที่มาของอาหารมากขึ้น ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น การเปิดตลาดเพื่อรองรับไข่แบบไร้กรง (Cage-free eggs) ของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกต่างๆ หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทุกประเภท ก็จะเพิ่มชื่อเสียงของแบรนด์ และทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศมีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แคโรลิน่า กาลวานี กล่าวด้วยว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทีมี17เป้าหมาย ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ก็ไม่มีนโยบายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ทาง Sinergia Animal ก็กำลังต่อสู้เรียกร้องให้ สหประชาชาติให้ความสนใจ



           “เรามาที่นี่ วันนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนลงมือทำและแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจของเรา ส่งผลกระทบต่อชีวิตทุกมิติ ขณะเดียวกันก็เร่งบรรเทาความทุกข์ของสัตว์ในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อลด ละ เลิก การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สนับสนุนให้เลือกกินอาหารที่ไร้เนื้อสัตว์ หรืออาหารจากพืช (Plant-based diet) ที่กำลังได้รับความสนใจและมีพัฒนาการที่ดีในวงการผลิตอาหาร ที่ทำให้ได้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเทียบเท่ากับการบริโภคเนื้อสัตว์ตามความต้องการแต่ละมื้อ ถือเป็นหมุดหมายที่ดีของการเริ่มต้น โดยอาหารจากพืช กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ก็จะทำให้สัตว์ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม เพื่อโลกที่ไม่มีใครถูกทำร้ายในการผลิตอาหาร” แคโรลิน่ากล่าว

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

EnPATน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์ม

 EnPATล้ำน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์มไทย

สวทช.เปิดนำร่องใช้‘EnPAT’น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันทดแทนน้ำมันแร่ ลดเสี่ยงไฟไหม้ หม้อแปลงระเบิด กฟภ.ทดสอบเข้มข้นใช้จริงกับชุมชนย่านชลบุรี  ผ่านสภาวะเร่งแล้วกว่า6,000 ชม. วางแผนขยายใช้ทั่วประเทศรวมถึง กทม. มุ่งสู่ Net Zero ปี เตรียมขอมาตรฐาน สมอ.เป็นฉบับแรก

น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมัน

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าว เปิดการนำร่องใช้ ‘EnPAT’ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 26 กค. 67

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์

ดร.สมบุญ กล่าวว่าได้ติดตั้งและนำร่องการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ’EnPAT’ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย เครื่องแรกร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 21 มีค. 67 เป็นความก้าวหน้าของไทย ในการสร้างนวัตกรรมสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างปาล์มน้ำมัน สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันที่ต้องการกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย ที่จะใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ สอดรับกับนโยบายของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2608

EnPAT มีคุณสมบัติเด่น จุดติดไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ ผลทดสอบการนำร่องใช้งานจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ

นายประสงค์ ดีลี ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม กฟภ. กล่าวว่า กฟภ.เป็นหน่วยงานแรกที่นำร่องติดตั้ง ใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุน้ำมัน ‘EnPAT’  เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารสำนักงานและบ้านเรือนของประชาชน ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี ติดตั้งเมื่อวันที่ 21 มีค.67 กฟภ.ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าภายใต้สภาวะใช้งานจริง และร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. ขยายผลการใช้งานน้ำมัน EnPAT  ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ มีเป้าหมายที่จะติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เพิ่มเติม ในพื้นที่ที่เหมาะสมทุกภูมิภาคของประเทศ

ประสงค์ ดีลี

ดร.สุมิตรา จรัสโรจน์กุล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยคิดค้นและพัฒนาต้นแบบ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทยตั้งแต่ปี 63 ผ่านการทดสอบต่างๆในห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบการเสื่อมสภาพในสภาวะเร่งที่มากกว่า 6,000 ชั่วโมง ทดสอบความสามารถการปกป้องกระดาษฉนวน ทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะเร่งโดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ด้านกระบวนการผลิต ได้ขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ สู่ขนาด 40 ลิตรต่อครั้ง ปัจจุบันพัฒนากำลังการผลิตได้ 400 ลิตรต่อครั้ง โดยกระบวนการผลิตอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงการผลักดันการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 3 แผนงาน แผนงานที่ 1 ใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ โดย 1.1ใช้งาน เครื่องแรกร่วมกับ กฟภ. 1.2 ขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ครอบคลุมทุกภูมิภาค 1.3 ใช้งานหม้อแปลง EnPAT ในกรุงเทพมหานคร โดยการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 1.4 ขยายการใช้งาน EnPAT ในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน กับมีแผนที่จะเปิดให้ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายต่างๆ ภายในประเทศเข้าร่วม  แผนงานที่ 2 นำ EnPAT ไปใช้กับหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะบรรจุด้วยน้ำมันแร่ โดยเมื่อถึงวงรอบการซ่อมบำรุง จะเปลี่ยนเอาน้ำมันแร่ที่เสื่อมออก ใส่น้ำมันหม้อแปลง EnPATทดแทน หากใช้ซ่อมบำรุงทดแทนน้ำมันแร่ได้ จะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันแร่สู่น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพทั้งหมด แผนงานที่ 3 พยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ 

ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ บพข.กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้แสดงถึงพลังของความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยให้นำไปใช้ ผลสำเร็จของโครงการจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการลงทุนในการวิจัยพัฒนาที่นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีมูลค่าสูง 



น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า EnPAT เป็นผลงานวิจัย “โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” โดยทีมวิจัยเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)


ส่วนโอลีโอเคมี (Oleochemical) คือ กระบวนการผลิตเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของไขมันพืชและสัตว์ เพื่อให้ได้สารที่ใช้งานได้หลากหลาย ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบมากในอุตสาหกรรมและงานวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ


วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Hub of Talents

 แจงศูนย์ Hub of Talents สร้างเครือข่ายนักวิจัยเชี่ยวชาญสูงเป็นฮับวิทยาศาสตร์นานาชาติ

ไขข้อข้องใจ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) มุ่งสร้างเครือข่ายนักวิจัยเชี่ยวชาญสูงจากสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรวิจัยคนไทยให้มีศักยภาพ นำไทยสู่ Hub วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ


น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ด้วยการสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสูงจากสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมาทำงานร่วมกัน พัฒนาทักษะบุคลากรการวิจัยและคนไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์กลางด้านความรู้ ยังเป็นแหล่งกิจกรรมทางวิชาการ ที่รวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นแหล่งอ้างอิงองค์ความรู้เฉพาะด้านที่ถูกต้องแม่นยำตามหลักวิชาการ โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย นวัตกรรม และเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ


“กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนการทำงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ และศูนย์กลางด้านความรู้จากการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่ วช. ได้ผลักดัน เพื่อสนับสนุนนโยบาย IGNITE THAILAND ที่กระทรวง อว. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้สำเร็จผล”

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์  กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) จะนำไปสู่การสร้างนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งในด้านการวิจัยของประเทศไทย รวมถึง การยกระดับเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็น การพัฒนากลไกและมาตรการที่ส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนไปสู่การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศจากความร่วมมือจากพลังสหวิทยาการในการขับเคลื่อนประเทศด้านกำลังคนได้อย่างแท้จริงอย่างยั่งยืน

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) เป็นการส่งเสริมกลไกการพัฒนาทักษะและกำลังคน การส่งเสริมการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพที่มีหลักสูตรอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเน้นพัฒนาทักษะทางอาชีพและทักษะเฉพาะทางเทคนิค เพื่อนำความรู้ในเชิงทฤษฎีมาใช้จริง สนับสนุนการเรียนการสอนทักษะในยุคดิจิทัล และผลิตบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

ดร.วิภารัตน์ อ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าการสนับสนุนศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่มีความรู้เฉพาะด้าน มีทักษะ ด้านการวิจัยในระดับสูง สร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ที่มีเอกลักษณ์ ในศาสตร์ สาขา ประเด็น หรือบริบทที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ สามารถดึงดูดคนไทยและต่างประเทศให้มาศึกษาเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆโดยมีกรอบการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางความรู้ (Hub of Knowledge) ตาม เพื่อความร่วมมือและ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-Operation and Development,OECD) รวมถึงอุตสาหกรรมตามเป้าหมายของประเทศ 

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อัปเดต10 เทคโนโลยี5 ปีข้างหน้างานอว. Fair 2024

 อัปเดต10เทคโนโลยี5 ปีข้างหน้า

สวทช.อัปเดต 10 กระแสเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อการลงทุน การพัฒนา ล้วนเกี่ยวของสุขภาพ พลังงานและการประมง  สาขาชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ถึงขั้นสร้างวงจรยีน (gene circuit) แจ้งเตือนการเกิดโรคหรือย่อยสลายสารพิษได้


ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายพิเศษหัวข้อ 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง 2567 (10 Technologies to Watch 2024) โดยระบุว่า ทั้ง 10 เทคโนโลยี ครึ่งหนึ่งเป็น digital technology มี AI ร่วมด้วย มี 3 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับสุขภาพ  2 เทคโนโลยีเป็นเรื่องพลังงาน อีก 1 เทคโนโลยี สายการประมง ข้อมูลทิศทางเทคโนโลยี จะเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจที่สนใจพิจารณาการเข้าไปลงทุนอย่างเหมาะสมได้ เทคโนโลยีทั้ง 10 ได้แก่

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์

         1.กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle) หรือกล้ามเนื้อจำลอง เลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจริงตามธรรมชาติ  ใช้สวมใส่เพื่อฟื้นฟู เสริมแรงสำหรับผู้พิการ การผ่าตัดแบบ microsurgery หรือนำกล้ามเนื้อเทียมไปประยุกต์ใช้ในหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และระบบควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม (industrial automation) เพื่อให้หุ่นยนต์น้ำหนักเบา ทำงานกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย

         2. จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare) ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายในท้องตลาด มีจุลินทรีย์ดี ทั้งแบบ พรีไบโอติก (prebiotic) โพรไบโอติก (probiotic) และซินไบโอติก (synbiotic) อนาคตอันใกล้ อาจใช้เชื้อที่ผ่านการวิศวกรรม คุณสมบัติแปลกใหม่ ดีกว่าเดิม ช่วยเฝ้าระวังหรือรักษาโรคเฉพาะเจาะจง จุลินทรีย์อาจสร้างโดย ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ด้วยหลักการทางวิศวกรรมชีวเคมี ออกแบบและสร้างระบบชีวภาพ ได้เป็น “วงจรยีน (gene circuit)” ในเซลล์ซึ่งเปิด-ปิดการทำงานของยีนบางอย่างได้อย่างจำเพาะ อาศัยการตอบสนองสัญญาณหรือตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม สามารถแจ้งเตือนการเกิดโรค หรือย่อยสลายสารพิษ หรือรักษาโรคได้

         3. แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare) ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาพัฒนา Digital Twin Platform ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำลองระบบการเผาผลาญพลังงานของผู้ป่วยจากข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย  บริษัทในประเทศสิงคโปร์ พัฒนาระบบทำนายความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวานด้วยแบบจำลอง AI ประเทศไทยมีแนวโน้มที่บริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ รวมทั้งบริษัท health-tech startup จะนำเทคโนโลยีนี้ มาใช้งาน


         4. การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (AI-Augmented Software Development) ประมาณการณ์กันว่า จะมีการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ของซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ราว 35-45% พร้อม ๆ กับการลดต้นทุนถึง 20% ใช้เวลาที่สั้นลง คาดว่าภายในปี พ.ศ.2571 วิศวกรซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเมอร์ในองค์กร 75% จะใช้ AI ช่วยเขียนโค้ด เทียบกับปัจจุบันใช้น้อยกว่า 10%

         5. เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology) เก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์แบบไบโอเมทริก (biometric sensor) เมื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมแบบ deep learning ก็ได้ข้อมูลเชิงลึก ข้อเสนอแนะ และคำแนะนำ ที่แม่นยำแก่ผู้ใช้ อุปกรณ์สวมใส่ AI รุ่นใหม่ ๆ จะทำงานรวดเร็วและแม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้น

ทีม A-MED สวทช. ได้พัฒนาระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย ตรวจจับอิริยาบถการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ รวมไปถึงท่านอน การล้ม ตำแหน่งที่เกิดเหตุภายในอาคาร พร้อมแสดงผล แจ้งเตือนผู้ดูแลแบบเรียลไทม์

         6. เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies, PETs) ช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เข้ารหัสแบบใหม่ ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ โดยไม่ต้องถอดรหัส  ในประเทศไทย เนคเทค สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยี PETs ใช้กับ IoT ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้การคำนวณข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมบนคลาวด์ปลอดภัย เนคเทคทดสอบใช้งานจริงในโรงงานธนากรผลิตน้ำมันพืชจำกัด (น้ำมันพืชกุ๊ก)

         7. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot) ปัจจุบันมีการใช้งานหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยแล้วหลายประเทศ ตลาดโลกประเมินว่าอาจจะสูงถึง 71,800 ล้านเหรียญในปี พ.ศ.2570 อัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 17.8% เฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิกสูงถึงเกือบ 20% ปัจจัยกระตุ้นสำคัญคือ ความต้องการเทคโนโลยีนี้ในทางทหารและการป้องกันประเทศเป็นหลัก ด้าน สวทช. มีการสร้างหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า

         8. เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology) ที่ผ่านมาความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเติบโตมากกว่า 25% ต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในปี พ.ศ.2573 กระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ปัจจุบันอาศัยความร้อนสูง ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษ มีความพยายามพัฒนาเพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการนี้ มุ่งหมายเพื่อได้เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรงลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเมินกันว่าเทคโนโลยีแบบนี้อาจไปถึงจุดที่สามารถนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ได้มากถึง 90% ลดความต้องการสินแร่ใหม่เพื่อนำมาผลิตแบตเตอรี่ได้มากกว่า 25% ในปี พ.ศ.2573

         9. ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility)ในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไบโอไฮโดรเจน (biohydrogen) เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมมีก๊าซมีเทนในมูลสัตว์หรือชีวมวลต่าง ๆ ซึ่งเป็นกรีนไฮโดรเจน (green hydrogen) อาจผ่านกระบวนการทางเคมีจนได้ผลิตภัณฑ์ไฮโดรเจน กระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบนี้ ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (carbon footprint) ขายเป็นคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ของประเทศไปพร้อม ๆ กันได้

         10. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (Next Generation of Recirculating Aquaculture System: RAS)  เทคโนโลยี RAS เป็นการเลี้ยงแบบใช้น้ำหมุนเวียน บำบัดของเสียออกจากน้ำและเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ข้อดีคือไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ เลี้ยงสัตว์น้ำได้หนาแน่นในพื้นที่น้อย ควบคุมการเลี้ยงและติดตามปัจจัยต่าง ๆ ได้ดีกว่าวิธีการแบบเดิม ลดความเสี่ยงจากโรคสัตว์น้ำได้มาก สวทช. ได้พัฒนาระบบ RAS สำหรับกุ้งและปลากะพง ระบบที่พัฒนาขึ้นมีราคาที่ถูกลงกว่าในท้องตลาด คืนทุนได้เร็ว ควบคุมระบบการเลี้ยงได้ง่ายขึ้น

อว.บินโดรนพร้อมจุดพลุเฉลิมพระเกียรติ72พรรษา

 อว.บินโดรน-จุดพลุเฉลิมพระเกียรติ72พรรษา

รมว.อว. เปิดการแสดงโดรนแปรอักษรพร้อมการจุดพลุ "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เทิดไท้องค์ราชัน" งาน อว. แฟร์ SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันที่ 22 กค.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด การแสดงบินโดรนแปรอักษร"เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เทิดไท้องค์ราชัน" ในงาน อว. แฟร์ SCI POWER FOR FUTURE THAILAND เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ควบคุมการจัดแสดง ณ จุดชมการแสดงบริเวณ Lakeside View ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์



น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า การแสดงบินโดรนภายใต้หัวข้อ"เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เทิดไท้องค์ราชัน" ในงาน"อว. แฟร์ SCI POWER FOR FUTURE THAILAND" เป็นงานสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 72 ปี แห่งพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศไทย วันนี้เป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะ สื่อถึงความก้าวหน้า การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ครั้งนี้ ได้ต่อยอดนวัตกรรมการบินโดรนแปรอักษร โดยบินโดรนพร้อมการจุดพลุที่สวยงาม



การแสดงบินโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติฯ ออกเป็น 2 รอบ ประกอบเป็นภาพชุดการแสดงต่าง ๆ อาทิ ภาพตราพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ภาพตรีศูล ภาพในหลวงและพระราชินี และภาพทรงพระเจริญ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนวัตกรรมโดรนแปรอักษร