เปิดผลงานวิศวกรสังคม ม.ราชภัฏมหาสารคาม ถ่ายทอดเทคโนโลยี นำนวัตกรรมลงแก้ปัญหาชุมชน ทั้งแก้ปัญหาการสูบน้ำจากแหล่งห่างไกล การเลี้ยงปลาอควาโฟนิกส์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง |
ผศ.ดร.ไชยยันต์ สกุลไทย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2565-ปัจจุบัน ได้นำเอากระบวนการวิศวกรสังคมมาพัฒนานักศึกษาให้มีประสบการณ์และทักษะการทำงานจริงร่วมกับชุมชน นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพ ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งได้ประยุกต์ให้เข้ากับภารกิจในปี 2567
ผศ.ดร.ไชยยันต์ กล่าวอีกว่า ได้บูรณาการการเรียนการสอนนักศึกษาให้ฝึกปฏิบัติงานจริงตามกระบวนการวิศวกรสังคมร่วมกับชุมชน โดยให้นักศึกษาวิศวกรสังคม ลงพื้นที่เพื่อศึกษาบริบทชุมชน เก็บข้อมูลชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสู่ชุมชน โดยมีการลงชุมชน 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าตูม และชุมชนบ้านท่าสองคอน ต้องการชุดเลี้ยงปลาอควาโปรนิกส์ ชุมชนเขาพระนอน ต้องการชุดกาลักน้ำอัตโนมัติ ชุมชนโนนภิบาล และชุมชนบ้านโนนแต้ ต้องการชุดเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ข่าวแจ้งว่า ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการที่บ้านโนนแต้ จ.มหาสารคาม ที่ได้นำโจทย์ของชุมชนมาจัดทำนวัตกรรมชุดเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว อยู่ไกลแหล่งน้ำธรรมชาติ มีปัญหาการส่งน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ จึงพัฒนาโมเดลการใช้แหล่งน้ำที่สร้างขึ้นมาที่ขนาดใหญ่เพียงพอ และไฟฟ้าเข้าไม่ถึง สามารถส่งน้ำเข้าแปลงปลูกข้าวเหนียวได้ผลเจริญเติบโตดี มีผลผลิตที่เก็บไว้บริโภคตลอดปีและแบ่งจำหน่ายเป็นรายได้ ขณะที่เกษตรพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีการนำส่งน้ำเข้าแปลงปลูก ไม่สามารถปลูกพืชปลูกข้าวได้ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาล ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการดังกล่าว กับผู้นำชุมชนบ้านโนนแต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น