ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ มือปราบไวรัสปลานิล
นักวิจัยเด่น67:
วช.เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 2567 รศ. น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ ผลงานศึกษา สร้างองค์ความรู้ ป้องกัน กำจัดไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิล ซึ่งยังไม่มีการศึกษามาก่อน ถ่ายทอดองค์ความรู้ช่วยเกษตรกรทั้งในประเทศ นอกประเทศ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ (รศ.น.สพ.) ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาและสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อจัดการโรคไวรัสอุบัติใหม่ในฟาร์มปลานิลและปลานิลแดง ในกิจกรรม NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 ครั้งที่ 2 มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานรศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์
ดร.วิภารัตน์ เปิดเผยว่า ปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลให้ รศ.น.สพ. ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 จากผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง โรคไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง เช่น โรคไวรัสทิลาเปียเลค ผลการศึกษาวิจัยครอบคลุมตั้งแต่การค้นพบเชื้อไวรัสในฟาร์มปลานิลในประเทศไทย การศึกษากลไกและปัจจัยการก่อโรคของเชื้อไวรัส การศึกษาวิธีควบคุมป้องกันโรคภายในฟาร์ม รวมถึงการพัฒนาวัคซีนและวิธีทดสอบโรค องค์ความรู้และเทคโนโลยีได้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร แก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสภายในฟาร์มปลานิลและปลานิลแดง ผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
รศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ กล่าวว่า ปลานิล เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทย เป็นปลาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้กับพสกนิกรชาวไทยกว่า 50 ปี มีการเลี้ยงหลายพื้นที่ของประเทศไทย มีเกษตรกรที่เลี้ยงเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาในช่วง 10 ที่ผ่านมา พบเกษตรกรปัเผชิญญหาปลาตายในช่วงหนึ่งเดือนแรก จึงได้ศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลการระบาด นำตัวอย่างปลาป่วยกลับมาที่ห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ จนทราบว่ากำลังเจอกับโรคไวรัสชนิดใหม่ ขณะนั้นยังไม่มีรายงานในประเทศไทย จึงได้เริ่มแยกตัวไวรัสออกมา ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ เช่นการพัฒนาการตรวจสอบโรค การศึกษากลไลการก่อโรคของเชื้อไวรัสในปลา รวมถึงศึกษาตัวเชื้อไวรัสว่ามีลักษณะสารพันธุกรรมเป็นอย่างไร ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนหลายแบบ อาทิ แบบแช่ เพื่อให้ปลาเกิดภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาการตอบสนองภูมิคุ้มกันในปลาที่ได้รับเชื้อไวรัสและปลาที่ได้รับวัคซีน อย่างต่อเนื่อง
นักวิจัยดีเด่น ปี 2567 ระบุว่า ได้นำผลการศึกษาวิจัยที่สำเร็จแล้ว ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลา รวมถึงเกษตรกร และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังถ่ายทอดไปสู่องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งต่อความรู้สู่ผู้เลี้ยงปลานิลอีกหลายประเทศ โดยที่ปลาชนิดนี้ จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีปริมาณการเลี้ยงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและเผชิญปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างกว้างขว้าง ปัจจุบันโรคไวรัสอุบัติใหม่บรรจุเป็นไวรัสที่ต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมโดยองค์กรสุขภาพสัตว์โลก
รายงานข่าวระบุว่าผลงานวิจัย โรคไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในระดับสากล ทั้งการมีความคิดริเริ่ม และเป็นผู้นำในหัวข้อที่ศึกษาวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยใหม่ ที่ยังไม่มีการศึกษามาก่อน จนนำไปสู่การกำหนดแนวทางควบคุมโรค และการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง การศึกษาวิจัยมีการเชื่อมโยงระหว่างผลปฏิบัติการ และการใช้ประโยชน์ในภาคสนาม ในฟาร์มเกษตรกร รวมถึงได้มีการขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ ในเชิงวิชาการ และการปฏิบัติในภาคสนามกับเกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับองค์กรภายในประเทศ และต่างประเทศ ได้รับการยอมรับอย่างขว้างกว้างในวงวิชาการด้านโรคไวรัสอุบัติใหม่ และอุบัติซ้ำในสัตว์น้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น