ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

วิจัยยกระดับเครื่องแกง!!

 วิจัยยกระดับเครื่องแกง!!

ผลงานวิศวกรสังคม ราชภัฏนครศรี

วิศวกรสังคม ราชภัฏนครศรีธรรมราช อวดผลงานยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงนบพิตำ และสร้างเครือข่ายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

    ผศ.ดร. พีระพงศ์ สุจริตพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทักษะกระบวนการวิศวกรสังคมเพื่อนำความรู้มาพัฒนาเชิงพื้นที่  เปิดเผยว่า วิศวกรสังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มเครื่องแกงตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นที่รู้จัก สร้างเครือข่ายการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยวิจัยและนวัตกรรม ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยพื้นที่ดำเนินการของนักวิจัยและนักศึกษาวิศวกรสังคมอยู่ที่บ้านเขาเหล็ก ตำบลนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่มกับกลุ่มวิสาหกิจเครื่องแกงและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรม ได้แก่ 1 เครือข่ายกลุ่มเครื่องแกง  2.เครือข่ายกลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ได้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน

ข่าวแจ้งด้วยว่า นอกจากนี้ โครงการที่วิศวกรสังคมร่วมดำเนินการกับเครือข่ายชุมชน ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องแกงตำมือ ไม้กวาดดอกหญ้า กล้วยฉาบรสต่าง ๆ ปลาดุกไสอวน ผ้ามัดย้อม แกงไตปลาอื้อ(อาหารพื้นถิ่น) ขนมพื้นถิ่น  กลุ่มการท่องเที่ยว  เป็นการแนะนำพื้นที่วัดภูเขาเหล็ก ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช การทำผ้ามัดย้อมดินเหมืองแร่ โคก หนอง นา โมเดล และการทำสปาทราย


    ด้าน ผศ.ดร. ดำรงค์พันธ์ ใจห้าว วีระพงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ โครงการวิศวกรสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเข้มข้น  โดยการสร้างกระบวนการคิดและการทำงานที่เป็นระบบของนักศึกษา พัฒนาพื้นที่ทั้งโซนป่า โซนเขา โซนนา และโซนทะเล ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาชุมชนหลากหลาย และได้ผลการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ชัด
ทั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวระหว่างการติดตามงานโครงการบ่มเพาะวิศวกรสังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเมื่อเร็วๆนี้  ว่าได้สนับสนุนทุนวิจัย
แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ เพื่อบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม ในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ตามแนวทางกระบวนการ “วิศวกรสังคม”  โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เลือกการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยร่วมกันพัฒนาโจทย์และปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม เป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป






วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ตั้งเครือข่ายวิจัยต้านยาเสพติด

 ตั้งเครือข่ายวิจัยต้านยาเสพติด

วช.ยกระดับกลไกต้านยาเสพติด พัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์กลางความรู้ สร้างเครือข่ายนักวิจัยต่อยอดสร้างนวัตกรรม รวบรวมองค์ความรู้กฎหมาย การยุติธรรม การป้องกัน บำบัด แก้ปัญหายาในสังคมชุมชน

    

    รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆนี้ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้จัดประชุมเสวนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงานศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

    
พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นการดำเนินงานพร้อมกันระหว่างศูนย์ PSDP-Hub และศูนย์ DLET-Hub ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล รวบรวมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการป้องกัน บำบัด แก้ไข ให้เข้าถึงประชาชน เด็กและเยาวชน และกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ในระดับชุมชน

พล.ต.ท.เสนิต สำราญสำรวจกิจ

    ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าศูนย์ PSDP-Hub กล่าวว่า ศูนย์ Prevention and Solution of Drug Problems = PSDP-Hub (www.psdp-hub.com) เป็นศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านยาเสพติดจากฐานข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนศูนย์ Drug Law Enforcement in Thailand =DLET-Hub (www.dlet-hub.com) เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) รวบรวมบุคลากรศักยภาพสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ในลักษณะของสมาคมแห่งเมธี เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และส่งต่อไปยังผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่าง ๆ โดยเป้าหมายของการดำเนินงานคือการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ ที่จะสามารถตอบคำถามหรือโจทย์ที่สังคมต้องการคำตอบเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ได้เกิดศูนย์ต้นแบบ (Pilot Hub) ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of talents) ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา 

    ด้านดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้พัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางความรู้ (Hub of Knowledge) สนับสนุนการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายนักวิจัยในประเด็นสำคัญของประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในประเด็น ยุติธรรมท้าทายไทย 4.0 เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์กลางแห่งความรู้ (Hub of knowledge) เป็นพื้นที่สำหรับการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กระบวนการป้องกัน บำบัด และแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่สอดคล้องกับการเสริมสร้างโอกาส ทางการศึกษา สร้างอาชีพ และคืนคนดีสู่สังคม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง 




วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

นักวิจัยเด่น67:ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ มือปราบไวรัสปลานิล

ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ มือปราบไวรัสปลานิล

 นักวิจัยเด่น67:

วช.เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 2567 รศ. น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ ผลงานศึกษา สร้างองค์ความรู้ ป้องกัน กำจัดไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิล ซึ่งยังไม่มีการศึกษามาก่อน ถ่ายทอดองค์ความรู้ช่วยเกษตรกรทั้งในประเทศ นอกประเทศ

รศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์
     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ (รศ.น.สพ.) ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาและสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อจัดการโรคไวรัสอุบัติใหม่ในฟาร์มปลานิลและปลานิลแดง ในกิจกรรม NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 ครั้งที่ 2 มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน


     ดร.วิภารัตน์ เปิดเผยว่า ปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลให้ รศ.น.สพ. ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2567 จากผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง โรคไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง เช่น โรคไวรัสทิลาเปียเลค ผลการศึกษาวิจัยครอบคลุมตั้งแต่การค้นพบเชื้อไวรัสในฟาร์มปลานิลในประเทศไทย การศึกษากลไกและปัจจัยการก่อโรคของเชื้อไวรัส การศึกษาวิธีควบคุมป้องกันโรคภายในฟาร์ม รวมถึงการพัฒนาวัคซีนและวิธีทดสอบโรค องค์ความรู้และเทคโนโลยีได้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร แก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสภายในฟาร์มปลานิลและปลานิลแดง ผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  

รศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ กล่าวว่า ปลานิล เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทย เป็นปลาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้กับพสกนิกรชาวไทยกว่า 50 ปี มีการเลี้ยงหลายพื้นที่ของประเทศไทย มีเกษตรกรที่เลี้ยงเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาในช่วง 10 ที่ผ่านมา พบเกษตรกรปัเผชิญญหาปลาตายในช่วงหนึ่งเดือนแรก จึงได้ศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลการระบาด นำตัวอย่างปลาป่วยกลับมาที่ห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ จนทราบว่ากำลังเจอกับโรคไวรัสชนิดใหม่ ขณะนั้นยังไม่มีรายงานในประเทศไทย จึงได้เริ่มแยกตัวไวรัสออกมา ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ เช่นการพัฒนาการตรวจสอบโรค การศึกษากลไลการก่อโรคของเชื้อไวรัสในปลา รวมถึงศึกษาตัวเชื้อไวรัสว่ามีลักษณะสารพันธุกรรมเป็นอย่างไร ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนหลายแบบ อาทิ แบบแช่ เพื่อให้ปลาเกิดภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาการตอบสนองภูมิคุ้มกันในปลาที่ได้รับเชื้อไวรัสและปลาที่ได้รับวัคซีน อย่างต่อเนื่อง



     นักวิจัยดีเด่น ปี 2567 ระบุว่า ได้นำผลการศึกษาวิจัยที่สำเร็จแล้ว ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลา รวมถึงเกษตรกร และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังถ่ายทอดไปสู่องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งต่อความรู้สู่ผู้เลี้ยงปลานิลอีกหลายประเทศ  โดยที่ปลาชนิดนี้ จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีปริมาณการเลี้ยงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและเผชิญปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างกว้างขว้าง ปัจจุบันโรคไวรัสอุบัติใหม่บรรจุเป็นไวรัสที่ต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมโดยองค์กรสุขภาพสัตว์โลก 

รายงานข่าวระบุว่าผลงานวิจัย โรคไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในระดับสากล ทั้งการมีความคิดริเริ่ม และเป็นผู้นำในหัวข้อที่ศึกษาวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยใหม่ ที่ยังไม่มีการศึกษามาก่อน จนนำไปสู่การกำหนดแนวทางควบคุมโรค และการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง การศึกษาวิจัยมีการเชื่อมโยงระหว่างผลปฏิบัติการ และการใช้ประโยชน์ในภาคสนาม ในฟาร์มเกษตรกร รวมถึงได้มีการขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ ในเชิงวิชาการ และการปฏิบัติในภาคสนามกับเกษตรกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับองค์กรภายในประเทศ และต่างประเทศ ได้รับการยอมรับอย่างขว้างกว้างในวงวิชาการด้านโรคไวรัสอุบัติใหม่ และอุบัติซ้ำในสัตว์น้ำ 




วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

วิศวกรสังคม มรม.โชว์แก้ปัญหาชุมชน

 เปิดผลงานวิศวกรสังคม ม.ราชภัฏมหาสารคาม ถ่ายทอดเทคโนโลยี นำนวัตกรรมลงแก้ปัญหาชุมชน ทั้งแก้ปัญหาการสูบน้ำจากแหล่งห่างไกล การเลี้ยงปลาอควาโฟนิกส์

https://www.nrct.go.th/

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยการวิจัยและนวัตกรรมแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ได้อบรมบ่มเพาะ พัฒนาและส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคม นำทักษะ 4 ประการ ได้แก่ เป็น นักคิด นักสื่อสาร นักประสานงาน และนักสร้างนวัตกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาและออกแบบโจทย์ร่วมกับชุมชนที่บ้านโนนแต้ จ.มหาสารคาม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง 



         ผศ.ดร.ไชยยันต์ สกุลไทย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม  2565-ปัจจุบัน ได้นำเอากระบวนการวิศวกรสังคมมาพัฒนานักศึกษาให้มีประสบการณ์และทักษะการทำงานจริงร่วมกับชุมชน  นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพ ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งได้ประยุกต์ให้เข้ากับภารกิจในปี 2567 

ผศ.ดร.ไชยยันต์ กล่าวอีกว่า ได้บูรณาการการเรียนการสอนนักศึกษาให้ฝึกปฏิบัติงานจริงตามกระบวนการวิศวกรสังคมร่วมกับชุมชน โดยให้นักศึกษาวิศวกรสังคม ลงพื้นที่เพื่อศึกษาบริบทชุมชน เก็บข้อมูลชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสู่ชุมชน โดยมีการลงชุมชน 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าตูม และชุมชนบ้านท่าสองคอน ต้องการชุดเลี้ยงปลาอควาโปรนิกส์ ชุมชนเขาพระนอน ต้องการชุดกาลักน้ำอัตโนมัติ ชุมชนโนนภิบาล และชุมชนบ้านโนนแต้ ต้องการชุดเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์



        ข่าวแจ้งว่า ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการที่บ้านโนนแต้ จ.มหาสารคาม ที่ได้นำโจทย์ของชุมชนมาจัดทำนวัตกรรมชุดเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว อยู่ไกลแหล่งน้ำธรรมชาติ มีปัญหาการส่งน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ จึงพัฒนาโมเดลการใช้แหล่งน้ำที่สร้างขึ้นมาที่ขนาดใหญ่เพียงพอ และไฟฟ้าเข้าไม่ถึง สามารถส่งน้ำเข้าแปลงปลูกข้าวเหนียวได้ผลเจริญเติบโตดี มีผลผลิตที่เก็บไว้บริโภคตลอดปีและแบ่งจำหน่ายเป็นรายได้ ขณะที่เกษตรพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีการนำส่งน้ำเข้าแปลงปลูก ไม่สามารถปลูกพืชปลูกข้าวได้ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาล ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการดังกล่าว กับผู้นำชุมชนบ้านโนนแต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป