ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

เยียวยาโควิดไม่กลัวติดเชื้อ ออแน่นออมสินขอพร้อมเพย์


เยียวยาโควิดไม่กลัวติดเชื้อ ออแน่นออมสินขอพร้อมเพย์

ออมสินป่วน คนแห่ขอเปิดบัญชี พร้อมเพย์ รอเงินเยียวยาโควิดคนละ 5,000 จนต้องปิด วอนให้รอลงทะเบียนออนไลน์ เราไม่ทิ้งกันดอตคอม  28 มีค ไม่ต้องไปธนาคาร ระบบจะโอนเข้าบัญชีอง

ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารออมสิน แจ้งว่า ช่วงวันที่ 26-27 มีนาคม 2563มีประชาชนจำนวนมากแห่กันไป ที่สาขาธนาคารออมสินหลายแห่ง จนแออัดแน่นพื้นที่ เพื่อขอเปิดบัญชีเงินฝาก หรือเชื่อมต่อพร้อมเพย์กับบัญชีเงินฝาก สำหรับการรับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ติดต่อกัน ระหว่างเดือน เมษายนถึงเดือนมิถุนายน 
การสนับสนุนเงินช่วยเหลือดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 มีนาคม 2563 ให้มีมาตรการเยียวยา ด้วยการชดเชยรายได้แก่แรงงาน ลูกจ้าง  ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยเปิดให้ผู้อยู่ในข่ายได้รับการเยียวยา ลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารขอแนะนำไม่ต้องรีบไปทำธุรกรรมดังกล่าว เพราะติดต่อได้เรื่อยๆ ยังไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ทั้งนี้ เมื่อลงทะเบียนเสร็จและมีการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อย การรับเงิน จะทำได้  2 ช่องทาง คือ บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประจำตัวประชาชน หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารใดก็ได้ที่แจ้งไว้
“ผู้ลงทะเบียนไม่ต้องเดินทางมาที่ธนาคารออมสินเพื่อติดต่อใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสามารถลงทะเบียนที่บ้านผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน .com ได้เลย เพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำของรัฐบาล และแพทย์ ซึ่งไม่ต้องการให้ประชาชนมาอยู่ใกล้ชิดกัน แออัด หรือรวมกันเป็นกลุ่ม อาจเป็นช่องทางให้เกิดการติดเชื้อไวรัสกันได้”

               อย่างไรก็ตาม การที่มีประชาชนจำนวนมากไปทำธุรกรรมดังกล่าวที่สาขาธนาคารออมสินหลายแห่งในหลายพื้นที่ ช่วงวันที่ 26-27 มีนาคม 2563 จนเกิดความแออัดหนาแน่นภายในพื้นที่สาขา อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามชุมนุมและรวมตัวกันในสถานที่แออัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 ธนาคารฯ จึงขอปิดการให้บริการสาขาในบางสาขาที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ต่อทั้งประชาชนและพนักงานธนาคารออมสิน ตั้งแต่ช่วงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 27 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

โควิดกับกลุ่มเสี่ยงวัย 70

โควิดกับกลุ่มเสี่ยงวัย 70

วช.มหิดล เปิด 10 จังหวัด มีกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 อายุเกิน 70 มากสุด ชี้ทั่วประเทศมีถึง 4.7ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน เหนือ

ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)และ รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ คณะทำงานโครงการวิจัยประเทศไทยในอนาคต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการศึกษาประชากรของประเทศไทยอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 4,764,684 คน เป็นเพศชาย 1,804,914 คน คิดเป็น 38% เพศหญิง 2,959,770 คน คิดเป็น 62%

         ประชากรกลุ่มวัยนี้ กระจายอยู่ทั่วประเทศ มากที่สุดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1,547,872 คน ภาคเหนือ 977,312 คน ภาคใต้ 591,581 คน ภาคตะวันออก 311,557 คน และภาคตะวันตก 288,881 คน กรุงเทพมหานคร 425,847 คน ปริมณฑล 380,612 คน

ทั้งนี้ สัดส่วนของประชากรผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป คิดเป็น 7.25% ของประชากรทั้งหมด จังหวัดที่มีผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ต่อประชากรมากที่สุด ได้แก่ สิงห์บุรี สมุทรสงคราม ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี พัทลุง ลำปาง อุทัยธานี อุตรดิตถ์ และพิจิตร ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุ 10 อันดับแรกของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น สงขลา บุรีรัมย์ เชียงรายนครศรีธรรมราช และชลบุรี ตามลำดับ

ประชากรวัย 70 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ร่วมกับกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ทั้งนี้ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 กำหนดให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานพำนักของตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยมีคำแนะนำว่า เมื่อมีอาการป่วยต้องรีบรายงานแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้การรักษาเป็นการลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงนี้ได้อย่างทันท่วงที

รายงานแจ้งว่า จากผลการวิจัยอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั้งจากองค์การอนามัยโลก ประเทศจีน และอิตาลี เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดต่อการติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิต ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า 1% ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิต 8.0-9.6% และอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 14.8-19.0% ดังนั้นจึงต้องดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษมิให้ติดเชื้อโควิด-19

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563

ไม่ต้องกลัว ! โควิด-19จะอยู่กับเราตลอดไป


นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ชี้โควิด-19 จะอยู่ตลอดไปเหมือนโรคซาร์ส์ ตอนนี้เริ่มเห็นแสงสว่างสำหรับยารักษาปอด ไม่หวั่นระยะที่ 3 เพราะไม่ทำให้อาการแรงขึ้น


         Pศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวในการเสวนาเรื่องจะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกยุคCOVID-19 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12มี.ค.63 ตอนหนึ่งว่า วงการแพทย์กำลังใช้ความพยายามเต็มที่กับโรคจากไวรัสโควิด-19 โดยโรคนี้จะอยู่กับเราตลอดไปจึงต้องเตรียมการ และทุกคนจะต้องช่วยกันชะลอโรคนี้

         “ถามว่าจะอยู่กับเรานานแค่ไหน ก็ตอนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ระบาดข้ามปี จากนั้นก็อยู่มาจนปัจจุบัน ตอนนั้น วันแรกเราก็กลัว แต่ตอนนี้ไม่ ทั้งนี้ ความกลัวจากการระบาดของ โควิด-19 อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น ช่วงแรกคนในประเทศจีนไม่ไปบริจาคเลือด ของเราจึงควรทำให้มั่นใจไปบริจาคให้ได้ โรคนี้ การป้องกันทำได้โดยการล้างมือ และการมีระยะห่างระหว่างบุคคล (Personal distant) ประมาณ2เมตร เพราะน้ำลายคนอาจไปได้ 1เมตร หรือการปลีกตัวจากสังคม (Social distant) ขณะนี้ทราบว่า งานแต่งงานบางรายก็ยกเลิกการจัด ขอให้ส่งคำอวยพรทางอินเทอร์เน็ต


         นพ.ยงกล่าวอีกว่า การระบาดขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ส่วนระยะที่ 3 เป็นการระบาดที่ไม่ทราบว่ามาจากไหน วงการแพทย์กำลังรอยา ที่จะรักษาไม่ให้เกิดอาการปอดบวม ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นแสงแล้ว และขยายความว่า ระยะเทียบได้กับการเดินทาง ไม่ใช่ระดับ การที่โรคไปถึงระยะไหนไม่ได้ทำให้อาการรุนแรงขึ้น ไม่มีความหมาย นอกจากการเตรียมจะตั้งการ์ด อย่างไรก็ต้องเดิน การกำหนดระยะของการระบาดก็เคยทำกับครั้งก่อน เช่น ไข้หวัดนก ที่ให้ระยะที่ 1 ติดจากสัตว์ด้วยกัน ระยะที่ 2 จากสัตว์สู่คนและระยะที่ 3 ติดจากคนสู่คน ครั้งนี้ ระยะที่ 1 เป็นการติดจากคนที่มาจากต่างประเทศ ระยะที่2 ติดในประเทศ ในวงจำกัด ระยะที่ 3 เป็นการระบาดในวงกว้าง เราก็พยายามให้มันอยู่ระยะที่ 2 ถ้าจำกัดได้ก็ดี หากไม่ได้ก็รับมือกับมัน


วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

รถเข็นสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ นวัตกรรมสู้ภัยแล้ง


เปิดตัวผลงานวิจัย ราชภัฏสกลนคร พัฒนาเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งบนรถเข็น ให้เคลื่อนที่ไปปั๊มน้ำได้ทุกที่ ถึงชม.ละ2,000ลิตร



         ในการเปิดตัวโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน ยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ที่ ต.บ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เมื่อวันที่ 7มี.ค.63  ผลงานนวัตกรรมหนึ่งที่ไปถ่ายทอดและส่งมอบให้กับชุมชน 18 แห่งในพื้นที่ 13 จังหวัด เป็นเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคิดค้น จัดทำโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร
         ผศ.ก้องภพ ชาอามาตย์ อาจารย์ สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำคณะไปร่วมถ่ายทอดนวัตกรรมเครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ กล่าวว่า เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ หรือมีแหล่งน้ำแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงออกแบบระบบสูบน้ำให้เคลื่อนที่ไปหาแหล่งน้ำได้
 ผศ.ก้องภพ ชาอามาตย์ 

         “บางแหล่ง แม้ขุดบ่อบาดาลได้แล้ว แต่ไม่มีเครื่องสูบ ก็นำมาใช้ประโยชน์ลำบาก”
         เครื่องสูบน้ำดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยมอเตอร์ปั๊มน้ำ ขนาด 500 วัตต์ ติดตั้งบนรถเข็นเดินตาม ออกแบบจัดทำขึ้นโดยเฉพาะให้เหมาะกับแผงโซลาร์เซล ขนาดยาว 1.20เมตร กว้าง 80 ซม. รับพลังงานแล้วแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ให้มอเตอร์ทำงานได้เลย และยังชาร์จเข้าแบตเตอรี่ชนิดแห้งเพื่อให้ใช้งานได้ในวันที่ไม่มีแสงแดดหรือตามเวลาที่ต้องการ
         ต้นทุนการผลิตรถเข็นสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ คันละ 60,000 บาท เนื่องจากต้องออกแบบขึ้นเฉพาะ แต่หากชุมชนจะนำไปดัดแปลงใช้รถเข็นที่มีขายทั่วไป หรือใช้แบตเตอรี่รถยนต์ ราคาอาจต่ำกว่านี้ แต่การเก็บประจุไฟฟ้าอาจได้ประสิทธิภาพไม่เท่ากับแบบแห้งที่ออกแบบ

         มีรายงานว่า ความสามารถการสูบน้ำได้ถึงชั่วโมงละ2,000ลิตร

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

กอ.รมน.ในบทบาทพัฒนาชุมชนด้วยนวัตกรรม


เปิดอีกบทบาท กอ.รมน.ร่วมกับ วช. มหาวิทยาลัย รุกใช้นวัตกรรมเสริมคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระดับชุมชน 74 จังหวัดทั่วประเทศ


         เมื่อวันที่ 7 มี.ค.63 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง พล.อ. กนก ภู่ม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก และดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick-off  ครั้งที่ 3 ร่วมกับ ศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ กอ.รมน.จังหวัดอ่างทอง คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย กลุ่มมวลชนจากจังหวัดอ่างทอง  กลุ่มพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วม
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน เป็นการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม  ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่
ในระยะแรกผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน ได้แก่
1)เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน สู่ชุมชน 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2)ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ  สู่ชุมชน 10 พื้นที่ ใน 8 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3)ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือพาราโบล่าโดม สู่ชุมชน 4 พื้นที่ ใน 4 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร
4)เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สู่ชุมชน 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
5)เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ สู่ชุมชน 231 พื้นที่ ใน74 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยนเรศวร



รวม 269 ชุมชนทั่วประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

WHO ถอดรหัส COVID-19


WHO ถอดรหัส COVID-19
รายงานฉบับแรกจากอู่ฮั่น

          ข่าวการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อ โควิด-19 (COVID-19) เป็นที่รับรู้ของชาวโลก จากการพบผู้ป่วยที่ทวีจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อต้นดือน มค.63 และลามอีกหลายประเทศ จากไทย ไปเกาหลี ญี่ปุ่น อิหร่าน ยันอิตาลี ในช่วงเวลาเพียง 8 สัปดาห์
แม้ทางการจีนมีท่าทีจะดีขึ้น เมื่อถึงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม แต่ปรากฏว่าศูนย์กลางการระบาดกลับย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ต่างทวีปเสียแล้ว
                    สถานการณ์ที่เกิดก่อความสับสนวุ่นวายไปทั่ว ใช่เฉพาะแต่ดินแดนแรกของการระบาด ประเทศอื่นต่างก็เฝ้าระวังเคร่งครัด องค์การอนามัยโลก(World Health Organization) ซึ่งมีหน้าที่ประสานความร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยของทุกคน ได้จัดส่งทีมงาน ประกอบด้วยตัวแทนแพทย์จาก 8 ประเทศ รวมทั้งประเทศจีน จำนวน 25 คน เดินทางเข้าไปยังเมืองอู่ฮั่น ต้นทางการระบาดและแหล่งอื่นๆ เพื่อติดตามสอบสวนสาเหตุของโรค
          ดร.แดเนียล เคอร์เตสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย
กล่าวระหว่างการเสวนาที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรุงเทพ ผ่านระบบออนไลน์


เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 มีค.63 ว่า คณะแพทย์ตัวแทนองค์การอนามัยโลกทั้งหมดร่วมการติดตาม สอบสวน อาการผู้ป่วยทั้งประเภทรุนแรง ธรรมดา และที่เสียชีวิต ศึกษาระบบการป้องกันการติดเชื้อว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกจะช่วยเสนอแนะเพิ่มเติมด้วย
          ศ.นพ.สิริฤกษ์ ศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) 


กล่าวสรุปรายงานจากที่มีกว่า40หน้าว่า รายงานนี้ เป็นรายงานชิ้นแรกจากพื้นที่ เพิ่งทำเสร็จเมื่อ 28 กพ.63 โดยเป็นการลงตรวจสอบ พบผู้ปฏิบัติงานจริงใน 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เสินเจิน กวางโจ และอู่ฮั่น มีข้อมูลว่าที่ประเทศจีน มีโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 9 แห่ง ที่ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 มี36แห่ง การดูแลในช่วงแรก ปลายเดือน ม.ค.63 มีผู้ติดเชื้อมากจนน่าตกใจ มีอัตราการเพิ่มหลายพันคน แต่เมื่อปฏิบัติไปก็มองเห็นแสงสว่าง
          การศึกษาว่าไวรัสมาจากไหน นักวิทยาศาสตร์ ทำการแยกเชื้อได้ภายใน 1 สัปดาห์ การเลี้ยงเชื้อ พบว่าเป็นไวรัสโคโรน่าคล้ายที่พบในสัตว์ที่ใกล้เคียงกับพันธุกรรมของค้างคาวถึง 96% และจากการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อจากผู้ป่วย 104 รายการ พบยังไม่มีการกลายพันธุ์ โดยยืนยันจากการตรวจพันธุกรรมคล้ายกันมากกว่า 99%
                    การชันสูตร เสียชีวิต พบว่า ผู้สูงอายุมีอัตราการตายสูงกว่ากลุ่ม อื่น โดยคนอายุ50 ปีขึ้นไป  มีลักษณะพยาธิสภาพปอดอักเสบ
รายงานดังกล่าว ระบุว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อ ราว 80% ไม่แสดงอาการ ที่มีอาการเล็กน้อย และหายไปเอง 14% กลุ่มที่ป่วยหนักมี 6% ซึ่งต้องเข้ารับการดูแลในหอผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) ในจำนวนนี้จะเสียชีวิตราว 1ใน 3 หรือ 2 ใน 3  

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมด ราว 0.7%
          สำหรับผู้ติดเชื้อ จำแนกตามกลุ่ม พบว่า เด็กจะติดเชื้อต่ำที่สุด ในรายที่ติดเชื้ออาการก็ไม่รุนแรง ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งกังวลกันว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กลับมีระดับความเสี่ยงในระดับพอๆกับคนทั่วไป



                    ในด้านความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย พบว่าที่มณฑลกวางตุ้ง มีเจ้าหน้าที่ 1,800 ทีม ดูแลผู้ป่วยทีละคน รวม320,000 คน มีสัดส่วนการติดเชื้อ 1.5% ส่วนที่มณฑลเสฉวน มีสัดส่วนการติดเชื้อ 0.9%  การรับมือกับการระบาดครั้งนี้ จีนใช้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ถึง 400,000 คน ในจำนวนนี้ กลายเป็นผู้ติดเชื้อ 2,055 คน จาก 476 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ส่วนการที่มีข่าวแพทย์และบุคลากรป่วยถึงเสียชีวิต เพราะในช่วงต้นยังขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์
                    กับข้อสงสัยที่ว่า ไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เป็นเวลานาน แต่ไม่เป็นที่รับรู้หรือไม่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า การศึกษารายละเอียดของการอาการป่วยเทียบเคียงกับรายอื่น ๆพบว่า ผู้ป่วยไวรัส โควิด-19เข้ารับการรักษาและยืนยัน เมื่อวันที่ 30-31ธค.62 เมื่อนำข้อมูลการตรวจเชื้อย้อนหลัง พบรายแรกวันที่ 8 ธค.62 ส่วนในทางคลินิกพบรายแรกวันที่ 2 ธค.62 จึงเป็นไปได้ว่า การพบเชื้อและการระบาดเกิดขึ้นในช่วงนี้
          ส่วนอาการของผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เกือบทุกรายมีไข้ อีกราว 2 ใน 3 มีอาการไอแห้งๆ
          การถอดรหัสข้อมูลการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงแหล่งต้นตอที่ประเทศจีน ของตัวแทนองค์การอนามัยโลก ทำให้เกิดองค์ความรู้ถึงสาเหตุและการจัดการอย่างรอบด้าน จึงมีคำแนะนำ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมระวัง ป้องกันได้ ได้แก่
          1.ตระหนักแต่ไม่ตระหนก
          2.ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากมีความเสี่ยง
          3.เฝ่าระวังสังเกตุอาการตนเอง มีไข้ให้พบแพทย์ หรือรายงานแพทย์เมื่อเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยง
          4.สนับสนุนและทำตามมาตรการที่อาจนำมาใช้เมื่อเกิดการระบาด

          เพียงเท่านี้ ก็น่าจะเอาอยู่ สู้ไหว นะ