สิ่งที่คิดเที่ยวกันวันหยุดยาว หรือคราวเมื่อฤดูหนาวเยือน มักเป็นที่ไกล ๆ บางแห่งนั่งรถเป็นวัน ไปถึงก็หมดแรง รอตื่นเช้าชะโงกดูทะเลหมอก แล้วก็ขึ้นรถย้อนกลับนานเท่าขามา
เป็นความสนุกที่คนไม่เคยไม่รู้รสหรอก!
แต่อารมณ์นั้น แต่ละทีก็นาน ๆ จะมีสักหน ลองเปลี่ยนเป้าหมายเลือกที่ไม่ไกลบ้าง อย่าง จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.พระนคร ศรีอยุธยา ที่คนกรุงเทพฯชอบเห็นเป็นทางผ่าน ทั้ง ๆ ที่มีของดีอยู่ดื่น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) มอบหมาย รศ.ดร.ณรงค์ สมพงศ์ และคณะ ทำวิจัยการใช้สื่อบูรณาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ 3 จังหวัดที่ว่า เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการนำงานวิจัยองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเนื้อหาที่กลุ่มผู้ไปเยือนจะได้เรียนรู้ เกิดประโยชน์ โดยนำเอาวิธีจัดการความรู้มาช่วยในการค้นหา จำแนก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ ถ่ายโอน ผ่านสื่อนานาชนิดที่คนยุคปัจจุบันนิยม
คณะวิจัย ศึกษา เส้นทาง เลือกแหล่งเรียนรู้ งานประเพณี แล้วพัฒนาสื่อ เครื่องมือสืบค้นหลายชนิด ทั้งเว็บไซต์< www.localcreativetourism.com> แอพพลิเคชั่น localcreativetourism แอพสำหรับมัลติมีเดีย แซปป้า (Zappar) ที่ดูได้ทั้งวิดีโอ ภาพนิ่ง ข้อมูล แผนที่ ครบครัน สื่อดั้งเดิมอย่าง โบรชัวร์ ก็ไม่เว้น เพราะชุมชนบางแห่ง แม้อยู่ จ.นนทบุรี ชายคาติดกับกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยรู้จักทาง จะให้ดุ่ม ๆ ไป คงไม่กล้า เห็นว่าใกล้ เชื่อว่าหลายคนไม่คุ้น เช่น ตุ่มสามโคก งานวิจัยนี้พาไปรู้จักพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองสามโคก ให้เห็นเครื่องใช้เก่าแก่ที่ขุดได้มาดูกัน เลยไปวัดสิงห์ วัดโบสถ์ ถ้ามีเวลา ก็ต้องข้ามไป ชุมชนเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งกลุ่มผลิตสมุนไพรอายุวัฒนะ จากสวนของพวกเขาเอง มีโฮมสเตย์ สำหรับคนสนใจจะค้างคืน หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านฮอลันดา ที่สืบสาวความเป็นมาช่วงแรกตั้งชุมชนสมัยกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองก็อยู่ในเส้นทาง
จากเส้นทางประวัติศาสตร์ คนสนใจด้านการเกษตร ควรเลือกเส้นทางสีสันเกษตร เริ่มที่วาสนาฟาร์ม ปลูกเมล่อน แคนตาลูป ร้อยกว่าไร่ ได้รสหอม หวานอร่อยให้ชิมได้ทุกลูก แค่ อ.ภาชี จ.พระนคร ศรีอยุธยา เลยไปตันแลนด์ ศูนย์เรียนรู้แบบแกลเลอรีเล่าความเป็นมาของอิชิตัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึก การดำเนินธุรกิจกับการใช้ชีวิตเป็นมิตรกับธรรมชาติ จะเอาแบบบ้าน ๆ ก็ย้อนมาบ้านครูธานี เรียนรู้ชีวิตชาวนา คุณค่าเมล็ดข้าว อยากรู้ว่าชาวนาฟาดข้าว ยังไง ตำข้าว กะเทาะข้าวเปลือกแบบไหน ก็ได้ลองดูอยากหัดขี่ควาย ดำนา ก็ไม่น่าจะยาก
สำหรับบางคน ประวัติศาสตร์อาจไม่อยากรู้ลึก เส้นทางเกษตร ก็พอรู้แล้ว สนใจเรื่องชอปปิง ของขบเคี้ยว หวานมัน งานวิจัย ทำเส้นทางขนมหวานและอาหารท้องถิ่นด้วยวัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยาคงรู้จักกันดี มาทั้งทีต้องไหว้พระ แล้วต่อไปบ้านขนมไทยไกลหวาน อยู่ ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ ที่นี่เคร่งครัดและใส่ใจกับความสะอาดและรสชาติที่กำลังพอดี กินแล้วน้ำตาลไม่ขึ้น
ขากลับย้อนมาตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้า อ.เมือง จ.ปทุมธานี ที่นี่มีสารพัดคาวหวาน รวมทั้งกล้วยปิ้งโบราณและน้ำตาลสดแหล่งที่ศึกษาแนะนำมีอยู่มาก มาย จาระไนไม่หมดกับเนื้อที่ที่มี
ดาวน์โหลดมาใส่มือถือไว้นำทางจะดีที่สุดหยุดวันไหนเที่ยวได้ทันที
ไม่ต้องรอเทศกาล
นั่งรถก็ไม่นานไป!!
---------------
วีระพันธ์ โตมีบุญ
veeraphant@dailynews.co... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/602939
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น