เสาร์ที่ 7 ต.ค.60
เป็นวันซ้อมย่อยริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยายศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่คาดหมายได้ว่า
พสกนิกรผู้จงรักภักดีจำนวนมากจะแห่แหนไปจองจุดที่ใกล้ที่สุดเพื่อเฝ้ารอชม
ผมไม่มีหน้าที่โดยตรง
แต่งานสำคัญครั้งนี้ ก็อยากเข้าไปมีส่วนรับรู้บรรยากาศ อารมณ์ของผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุด
หวังจะได้ภาพ เรื่องราว
เป็นวัตถุดิบที่ผู้อยู่ในอาชีพต้องพยายามเก็บตุนเป็นส่วนตัว กระนั้น ก็ไม่พยายามเบียดแทรก
เพื่อให้ได้อยู่ในทำเลดีที่สุดของการถ่ายภาพ
แววตาเศร้าของหลายคนที่อยู่ตรงนั้น
ความตั้งใจที่จะตรึงตัวอยู่กับที่ ไม่ว่าแดดตอนสิบโมงเช้าที่สาดลงพื้นถนนจนเที่ยง จะเพิ่มอุณหภูมิเท่าไร
ก็ไม่มีใครท้อหรือคิดถอนตัว
ตัดสินเลือกเดินต่อไปยังที่หมาย
2 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร มุ่งสู่โรงราชรถ ที่มักหาโอกาสเข้าชมบ่อย
ๆ ช่วงปีที่ผ่านมา ก็เข้าไปมากครั้งขึ้น ด้วยความอยากรู้อยากเห็นการบูรณะองค์ราชรถสำคัญ
ครั้งนี้
ไม่เหมือนทุกครั้งที่มา เพราะภายในพิพิธภัณฑ์ดูเงียบเชียบ นอกจากเจ้าหน้าที่และกำลังพลทหารที่มาพักระหว่างภารกิจ
ก็แทบไม่มีนักท่องเที่ยว
ที่โรงราชรถ
ยิ่งต่างกว่าทุกครั้ง มองจากภายนอก เห็นแต่ความว่างเปล่า เมื่อถึงประตูเข้า ซึ่งทุกครั้งจะได้เห็นความสวยสง่าน่าเกรงขามของพระมหาพิชัยราชรถ
ที่จอดนิ่ง ไม่เคยเคลื่อนไหวนับตั้งแต่เสร็จภารกิจสำคัญเมื่อหลายปีก่อน แต่วันนี้
กลายเป็นที่ว่าง ประตูใหญ่ ที่ต้องปิดตาย ได้เปิดออก
เพื่อเคลื่อนราชรถไปซ้อมย่อยตั้งแต่เช้ามืด
นอกจากพระมหาพิชัยราชรถ
พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย ราชรถปืนใหญ่ เกรินบันไดนาค อย่างละองค์ ก็ไม่อยู่ ออกไปร่วมในขบวนซ้อมย่อยบรมราชอิสริยยศด้วย
คงเหลืออยู่แต่เกรินบันไดนาคอีกหนึ่งองค์
พระที่นั่งราเชนทรยานและพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ส่วนเวชยันต์ราชรถ
ซึ่งอยู่ด้านในสุด ก็ยังคงประจำอยู่ที่เดิม
พระที่นั่งราเชนทรยานในครั้งนี้
จะใช้อัญเชิญพระบรมอัฐิ ส่วนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่
10 จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร หรือเถ้าพระบรมอัฐิ ไม่ได้นำออกไปร่วมพิธีซ้อมย่อยครั้งนี้
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
ปรับแบบจากพระที่นั่งราเชนทรยาน มีขนาดเล็กลง ลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์
โครงสร้างไม้สักทองทรงบุษบก ขนาดกว้าง 100 ซม. ยาว 548 ซม. รวมคานหามสูง 414 ซม.
มีคานสำหรับหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน
ความว่างเปล่าของโรงราชรถ
ที่พระมหาพิชัยราชรถ ตลอดจนราชรถ พระราชยาน อื่น ถูกเชิญออกไปในภารกิจสำคัญด้านนอก
ที่มีความงดงาม สง่า สมพระเกียรติยศ แต่ก็เป็นงานที่มีขึ้นตามกลางความเศร้า เหงา
ไม่มีใครอยากให้วันนั้นมาถึง
โรงราชรถ เมื่อถึงคราวใกล้จะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี
ก็ทำให้สถานที่นั้นพลอยเงียบงัน เหงา ร่วมอยู่ในบรรยากาศซึมเศร้าที่สัมผัสได้
ช่างเป็นพิธีสำคัญที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
แต่ก็ไม่มีทางเลี่ยงได้
วีระพันธ์
โตมีบุญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น