ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ราชบัณฑิตกับศัพท์ใหม่ไอที

ราชบัณฑิตทันสมัยติวศัพท์ใหม่ไอที
ออกวิทยุ-ดูความหมายบนเว็บ

ราชบัณฑิตยุคโซเชียลมีเดีย เปิดเว็บ ออกวิทยุ อธิบายศัพท์สมัยใหม่ก่อนพิมพ์ลงพจนานุกรมให้เข้าใจ

            ราชบัณฑิตยสถาน สถาบันหลักของเครือข่ายทางปัญญาแห่งชาติ และเป็นองค์การพัฒนาความรู้ที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ มีบทบาทในการค้นคว้า วิจัย และนำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ได้ผลิตรายการวิทยุ"รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่วงรายการข่าวเวลา 7.00-7.30 น. และเผยแพร่บททางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ที่ < www.royin.go.th/th/knowledge/content-list.php?PageNo=1&SystemModuleKey=knowledge&SystemLanguage=&ID=43&Chr= >  (หรือที่อยู่เว็บโดยย่อ http://tinyurl.com/3fywo2o   ) ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. มาจนถึงขณะนี้ ได้นำเสนอเนื้อหาอธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายและบางคำยังไม่ได้บรรจุลงในหนังสือพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ  อาทิ คำ  อีบุ๊ก (วันที่ 27 กรกฎาคม)  กูเกิล (26 กรกฎาคม ) วิกิพีเดีย (25 กรกฎาคม ) ทวิตเตอร์ (24 กรกฎาคม ) ไฮไฟฟ์ (23กรกฎาคม)และเฟซบุ๊ก (22 กรกฎาคม )  
             
ตัวอย่าง การอธิบายศัพท์ดังกล่าว ระบุว่า ทวิตเตอร์ เป็นเว็บไซต์ของบริษัทอเมริกันที่ชื่อว่า Twitter.  ทวิตเตอร์ เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการสื่อสังคมเว็บไซต์หนึ่ง  เริ่มให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตในเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 บุคคลทั่วไปสามารถอ่านข้อความที่เขียนไว้ในทวิตเตอร์ได้ แต่ถ้าจะเขียนหรือส่งข้อความใด ๆ ต้องสมัครเป็นสมาชิก โดยกรอกชื่อผู้ใช้ อีเมล และรหัสผ่าน  ผู้ส่งข้อความสามารถจำกัดให้ผู้อ่านอยู่ในกลุ่มของตนได้  ข้อความที่ส่งในทวิตเตอร์เป็นข้อความสั้น ๆ ที่มีความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักขระ  ข้อความดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในหน้าประวัติของผู้ลงทะเบียนใช้บริการเว็บไซต์ทวิตเตอร์  สมาชิกทวิตเตอร์สามารถลงทะเบียนเป็นผู้ตามอ่านข้อความของผู้อื่นได้ ผู้ตามอ่านและแสดงความเห็นตอบข้อความของผู้อื่นเรียกว่า "follower" หรือ "ผู้ติดตาม" ส่วนคำ   เฟซบุ๊ก ระบุว่า หมายถึงเว็บไซต์ของบริษัทอเมริกันที่ชื่อว่า Facebook เฟซบุ๊กเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการสื่อสังคมเว็บไซต์หนึ่ง โดยเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2547 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ๓ คน เปิดบริการผ่านคอมพิวเตอร์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนได้ติดต่อกัน ต่อมาสมาชิกก็ขยายวงออกไปเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น นักเรียนชั้นมัธยม และในที่สุดก็เป็นประชาชนทั่วไป การเข้าเป็นสมาชิกเฟซบุ๊กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ผู้สมัครใหม่เพียงแต่สมัครเป็นสมาชิกตามเงื่อนไขที่กำหนด เว็บไซต์นี้มีบริการต่าง ๆ เช่น มีบริการเผยแพร่และรับข้อมูลส่วนบุคคลและข่าวสารต่าง ๆ และสามารถโต้ตอบกับสมาชิกรายอื่นได้

            เลขานุการคณะกรรมการจัดทำคำอธิบายถ้อยคำภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถานชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า บทวิทยุดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว แต่ยังไม่ตีพิมพ์ในหนังสือพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ศัพท์ที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ ไม่ได้กำหนดศัพท์บัญญัติแต่ใช้การทับศัพท์ แต่จะอธิบายว่ามีความหมายตลอดจนความเป็นมาอย่างไร โดยผู้สนใจสามารถสอบค้นบทวิทยุที่ออกอากาศแล้วได้ตามที่อยู่เว็บข้างต้น

            อนึ่งรายการรู้รักภาษาไทยเป็นรายการวิทยุที่ราชบัณฑิตยสถานร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์จัดทำขึ้น โดยเริ่มออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2550 มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอความรู้ทางภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา ที่มาของคำและสำนวน รวมทั้งคำที่เกิดขึ้นใหม่ในภาษาไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น