ชูโดรนต้นแบบปั้นสมาร์ตฟาร์มเมอร์
เปิดศูนย์เรียนรู้โดรนการเกษตรในวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน
เน้นช่วยสวนทุเรียนบนเขาสูง เป็ฯต้นแบบการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทดแทนแรงงานคน สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองฯวางแผนฝึกประกอบเครื่อง
ซ่อมเป็น รู้ซอฟต์แวร์ ฝึกบิน และถ่ายทอดความรู้หวังสร้างนักบินอากาศยานออกบริการเกษตรกร
ข่าวแจ้งว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน
จ.ชุมพร สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ร่วมกันเปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรต้นแบบแห่งแรกของจังหวัดชุมพร
เมื่อเร็วๆนี้ มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
เป็นประธานในพิธี
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า
วช.ได้สนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กับวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน
จ.ชุมพร จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์แห่งแรกของภาคใต้
ให้บริการแบบครบวงจร ได้แก่การถ่ายทอดองค์ความรู้ การประกอบ การซ่อม การให้บริการการบินโดรนเพื่อการเกษตร
เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่
นายพิศิษฐ์
มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า โครงการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรในจ.ชุมพร
ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับเกษตรกร
ในการเพิ่มผลผลิต จ.ชุมพร มีผลผลิตชนิดพืชสวนซึ่งมีต้นไม้สูงในพื้นที่ภูเขาสูง
โดยเฉพาะทุเรียน มีผลผลิตมาก เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมากกว่า 24,000 ราย
การพัฒนาเทคโนโลยีโดรนมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาภาคการเกษตรในภาคใต้ เป็นการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบ
วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร ศูนย์แห่งนี้ ดำเนินการครบวงจร มีการพัฒนาหลักสูตรในการอบรม
ได้แก่การประกอบการบินโดรน การฝึกบินโดรน การฝึกบินโดรนในพื้นที่จริง ด้วยโดรนขนาดใหญ่มีเรดาร์ป้องกันการชน
ติดตั้งถังหว่านเมล็ดและเคมีการเกษตรต่าง ๆ
การให้บริการกับเกษตรกรในการพ่นสารเคมียาฆ่าแมลง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ
เพื่อการใช้งานอย่างยั่งยืน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การอบรมเชิงปฏิบัติด้านการประกอบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรกรรม และเปิดให้นักศึกษาได้หมุนเวียนเรียนรู้ต่อยอดอย่างต่อเนื่อง
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรกรรมในหลายด้านทั้งการลดระยะเวลาในการฉีดพ่นสารชีวภาพให้แก่พืช
ทำให้เทคโนโลยีโดรนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแบ่งเบาภาระในการทำงานของเกษตรกรได้
นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้โดรนช่วยให้ได้ผลงานเพิ่มขึ้นด้วยเวลาน้อยลง
เช่นการฉีดพ่นเคมีการเกษตรกับทุเรียน 50 ต้นใช้เวลา 20
นาที เทียบกับการใช้แรงงานคน 1 คนฉีดพ่นได้วันละ
20 ต้น ในการจัดการทางสมาคม จัดโดรนเตรียมไว้ 4 ลำที่อาจารย์และนักศึกษา ได้รับการพัฒนาทั้งการประกอบ การซ่อม
การเรียนรู้ซอฟต์แวร์ ออกให้บริการชาวบ้าน ด้วยค่าใช้จ่ายราวไร่ละ 100 บาท โดยให้พัฒนาบุคลากรสำหรับควบคุมอากาศยานเป็นวิทยากรแม่ไก่ไปถ่ายทอดเพื่อสร้างอาชีพกับผู้สนใจ
นอกจากนำร่องในพื้นที่ภาคใต้
ก่อนหน้านี้ สมาคม ได้เตรียมรูปแบบบริการโดรนการเกษตรร่วมกับโครงการร้อยใจรักษ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่การเกษตรเป็นต้นแบบการแก้ปัญหายาเสพติด
ในระหว่างพิธี ได้มีการสาธิตการใช้งานโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตรใน
สวนทุเรียน พบว่าใช้งานได้อย่างดี เป็นที่คาดหวังว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่จ.ชุมพร
และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตภาคใต้ ช่วยเพิ่มผลผลิต
ลดต้นทุน ลดปัญหาการจ้างแรงงาน และเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้ยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น