สิ่งที่คิดเที่ยวกันวันหยุดยาว หรือคราวเมื่อฤดูหนาวเยือน มักเป็นที่ไกล ๆ บางแห่งนั่งรถเป็นวัน ไปถึงก็หมดแรง รอตื่นเช้าชะโงกดูทะเลหมอก แล้วก็ขึ้นรถย้อนกลับนานเท่าขามา
เป็นความสนุกที่คนไม่เคยไม่รู้รสหรอก!
แต่อารมณ์นั้น แต่ละทีก็นาน ๆ จะมีสักหน ลองเปลี่ยนเป้าหมายเลือกที่ไม่ไกลบ้าง อย่าง จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.พระนคร ศรีอยุธยา ที่คนกรุงเทพฯชอบเห็นเป็นทางผ่าน ทั้ง ๆ ที่มีของดีอยู่ดื่น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) มอบหมาย รศ.ดร.ณรงค์ สมพงศ์ และคณะ ทำวิจัยการใช้สื่อบูรณาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ 3 จังหวัดที่ว่า เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ
การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการนำงานวิจัยองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเนื้อหาที่กลุ่มผู้ไปเยือนจะได้เรียนรู้ เกิดประโยชน์ โดยนำเอาวิธีจัดการความรู้มาช่วยในการค้นหา จำแนก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ ถ่ายโอน ผ่านสื่อนานาชนิดที่คนยุคปัจจุบันนิยม
คณะวิจัย ศึกษา เส้นทาง เลือกแหล่งเรียนรู้ งานประเพณี แล้วพัฒนาสื่อ เครื่องมือสืบค้นหลายชนิด ทั้งเว็บไซต์< www.localcreativetourism.com> แอพพลิเคชั่น localcreativetourism แอพสำหรับมัลติมีเดีย แซปป้า (Zappar) ที่ดูได้ทั้งวิดีโอ ภาพนิ่ง ข้อมูล แผนที่ ครบครัน สื่อดั้งเดิมอย่าง โบรชัวร์ ก็ไม่เว้น เพราะชุมชนบางแห่ง แม้อยู่ จ.นนทบุรี ชายคาติดกับกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยรู้จักทาง จะให้ดุ่ม ๆ ไป คงไม่กล้า เห็นว่าใกล้ เชื่อว่าหลายคนไม่คุ้น เช่น ตุ่มสามโคก งานวิจัยนี้พาไปรู้จักพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองสามโคก ให้เห็นเครื่องใช้เก่าแก่ที่ขุดได้มาดูกัน เลยไปวัดสิงห์ วัดโบสถ์ ถ้ามีเวลา ก็ต้องข้ามไป ชุมชนเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งกลุ่มผลิตสมุนไพรอายุวัฒนะ จากสวนของพวกเขาเอง มีโฮมสเตย์ สำหรับคนสนใจจะค้างคืน หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านฮอลันดา ที่สืบสาวความเป็นมาช่วงแรกตั้งชุมชนสมัยกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรืองก็อยู่ในเส้นทาง
จากเส้นทางประวัติศาสตร์ คนสนใจด้านการเกษตร ควรเลือกเส้นทางสีสันเกษตร เริ่มที่วาสนาฟาร์ม ปลูกเมล่อน แคนตาลูป ร้อยกว่าไร่ ได้รสหอม หวานอร่อยให้ชิมได้ทุกลูก แค่ อ.ภาชี จ.พระนคร ศรีอยุธยา เลยไปตันแลนด์ ศูนย์เรียนรู้แบบแกลเลอรีเล่าความเป็นมาของอิชิตัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึก การดำเนินธุรกิจกับการใช้ชีวิตเป็นมิตรกับธรรมชาติ จะเอาแบบบ้าน ๆ ก็ย้อนมาบ้านครูธานี เรียนรู้ชีวิตชาวนา คุณค่าเมล็ดข้าว อยากรู้ว่าชาวนาฟาดข้าว ยังไง ตำข้าว กะเทาะข้าวเปลือกแบบไหน ก็ได้ลองดูอยากหัดขี่ควาย ดำนา ก็ไม่น่าจะยาก
สำหรับบางคน ประวัติศาสตร์อาจไม่อยากรู้ลึก เส้นทางเกษตร ก็พอรู้แล้ว สนใจเรื่องชอปปิง ของขบเคี้ยว หวานมัน งานวิจัย ทำเส้นทางขนมหวานและอาหารท้องถิ่นด้วยวัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยาคงรู้จักกันดี มาทั้งทีต้องไหว้พระ แล้วต่อไปบ้านขนมไทยไกลหวาน อยู่ ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ ที่นี่เคร่งครัดและใส่ใจกับความสะอาดและรสชาติที่กำลังพอดี กินแล้วน้ำตาลไม่ขึ้น
ขากลับย้อนมาตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้า อ.เมือง จ.ปทุมธานี ที่นี่มีสารพัดคาวหวาน รวมทั้งกล้วยปิ้งโบราณและน้ำตาลสดแหล่งที่ศึกษาแนะนำมีอยู่มาก มาย จาระไนไม่หมดกับเนื้อที่ที่มี
ดาวน์โหลดมาใส่มือถือไว้นำทางจะดีที่สุดหยุดวันไหนเที่ยวได้ทันที
ไม่ต้องรอเทศกาล
นั่งรถก็ไม่นานไป!!
---------------
วีระพันธ์ โตมีบุญ
veeraphant@dailynews.co... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/602939
วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560
วันที่โรงราชรถเงียบเหงา
เสาร์ที่ 7 ต.ค.60
เป็นวันซ้อมย่อยริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยายศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่คาดหมายได้ว่า
พสกนิกรผู้จงรักภักดีจำนวนมากจะแห่แหนไปจองจุดที่ใกล้ที่สุดเพื่อเฝ้ารอชม
ผมไม่มีหน้าที่โดยตรง
แต่งานสำคัญครั้งนี้ ก็อยากเข้าไปมีส่วนรับรู้บรรยากาศ อารมณ์ของผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุด
หวังจะได้ภาพ เรื่องราว
เป็นวัตถุดิบที่ผู้อยู่ในอาชีพต้องพยายามเก็บตุนเป็นส่วนตัว กระนั้น ก็ไม่พยายามเบียดแทรก
เพื่อให้ได้อยู่ในทำเลดีที่สุดของการถ่ายภาพ
แววตาเศร้าของหลายคนที่อยู่ตรงนั้น
ความตั้งใจที่จะตรึงตัวอยู่กับที่ ไม่ว่าแดดตอนสิบโมงเช้าที่สาดลงพื้นถนนจนเที่ยง จะเพิ่มอุณหภูมิเท่าไร
ก็ไม่มีใครท้อหรือคิดถอนตัว
ตัดสินเลือกเดินต่อไปยังที่หมาย
2 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร มุ่งสู่โรงราชรถ ที่มักหาโอกาสเข้าชมบ่อย
ๆ ช่วงปีที่ผ่านมา ก็เข้าไปมากครั้งขึ้น ด้วยความอยากรู้อยากเห็นการบูรณะองค์ราชรถสำคัญ
ครั้งนี้
ไม่เหมือนทุกครั้งที่มา เพราะภายในพิพิธภัณฑ์ดูเงียบเชียบ นอกจากเจ้าหน้าที่และกำลังพลทหารที่มาพักระหว่างภารกิจ
ก็แทบไม่มีนักท่องเที่ยว
ที่โรงราชรถ
ยิ่งต่างกว่าทุกครั้ง มองจากภายนอก เห็นแต่ความว่างเปล่า เมื่อถึงประตูเข้า ซึ่งทุกครั้งจะได้เห็นความสวยสง่าน่าเกรงขามของพระมหาพิชัยราชรถ
ที่จอดนิ่ง ไม่เคยเคลื่อนไหวนับตั้งแต่เสร็จภารกิจสำคัญเมื่อหลายปีก่อน แต่วันนี้
กลายเป็นที่ว่าง ประตูใหญ่ ที่ต้องปิดตาย ได้เปิดออก
เพื่อเคลื่อนราชรถไปซ้อมย่อยตั้งแต่เช้ามืด
นอกจากพระมหาพิชัยราชรถ
พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย ราชรถปืนใหญ่ เกรินบันไดนาค อย่างละองค์ ก็ไม่อยู่ ออกไปร่วมในขบวนซ้อมย่อยบรมราชอิสริยยศด้วย
คงเหลืออยู่แต่เกรินบันไดนาคอีกหนึ่งองค์
พระที่นั่งราเชนทรยานและพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ส่วนเวชยันต์ราชรถ
ซึ่งอยู่ด้านในสุด ก็ยังคงประจำอยู่ที่เดิม
พระที่นั่งราเชนทรยานในครั้งนี้
จะใช้อัญเชิญพระบรมอัฐิ ส่วนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่
10 จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร หรือเถ้าพระบรมอัฐิ ไม่ได้นำออกไปร่วมพิธีซ้อมย่อยครั้งนี้
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
ปรับแบบจากพระที่นั่งราเชนทรยาน มีขนาดเล็กลง ลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์
โครงสร้างไม้สักทองทรงบุษบก ขนาดกว้าง 100 ซม. ยาว 548 ซม. รวมคานหามสูง 414 ซม.
มีคานสำหรับหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน
ความว่างเปล่าของโรงราชรถ
ที่พระมหาพิชัยราชรถ ตลอดจนราชรถ พระราชยาน อื่น ถูกเชิญออกไปในภารกิจสำคัญด้านนอก
ที่มีความงดงาม สง่า สมพระเกียรติยศ แต่ก็เป็นงานที่มีขึ้นตามกลางความเศร้า เหงา
ไม่มีใครอยากให้วันนั้นมาถึง
โรงราชรถ เมื่อถึงคราวใกล้จะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี
ก็ทำให้สถานที่นั้นพลอยเงียบงัน เหงา ร่วมอยู่ในบรรยากาศซึมเศร้าที่สัมผัสได้
ช่างเป็นพิธีสำคัญที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
แต่ก็ไม่มีทางเลี่ยงได้
วีระพันธ์
โตมีบุญ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)