ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

สอนคนตาบอดถ่ายภาพ



วันอาทิตย์ ที่ 04 กันยายน 2554 เวลา 0:00 น
  
น่ายินดีที่สังคมไทยให้ความสนใจคนพิการมากขึ้น จึงเห็นนวัตกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อกับคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ ได้มีคุณภาพชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไป
   
ที่น่ายินดี และควรแก่การชื่นชมยิ่งไปอีก  ก็คือ กลุ่มนักถ่ายภาพที่รวมตัวกัน ทำประโยชน์เพื่อสังคมในนาม พิกฟอร์ออล (pict4all.com) พยายามเอาชนะอุปสรรคโลกมืด ดึงคนตาบอดให้ทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า คนปกติที่มีมุมมองศิลปะเมื่อแสงส่องต้องวัตถุเท่านั้นที่ทำได้
   
สอนคนตามองไม่เห็นทั้ง 2 ข้างให้ถ่ายภาพสวย ๆ ได้สำเร็จ
   
โครงการนี้ จัดต่อเนื่องมาแล้วสองปี วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักว่าคนพิการตาบอด ก็มีความสามารถเหมือนคนทั่วไป คนที่ไม่เคยชวนคนตาบอดท่องเที่ยว ถ่ายภาพจะได้เปลี่ยนความคิด เพราะขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรมให้ถ่ายภาพเป็นถึง 9 รุ่น รุ่นละ 10 รวมเป็น 90 คน ในโรงเรียนสอนคนตาบอด ทั้งที่พัทยา เพชรบุรี เชียงใหม่ หนองคาย แพร่และลพบุรี โดยบริษัท แคนนอนมาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ตัวแทนกล้องแคนนอนในประเทศไทยร่วมสนับสนุนกิจกรรม
   
คนเหล่านี้อาจไปสอนต่อกับเพื่อน ๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้มีคนอาสาเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะให้ดียิ่งขึ้น
   
เรามีโอกาสร่วมสังเกตการอบรม ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ เมืองพัทยา วันเสาร์ก่อน พบว่าการเป็นอาสาสมัครสอนถ่ายภาพ ยากกว่าการหลับตาถ่ายเอง และมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าการสอนคนตาดีหลายเท่า แต่ นพดล ปัญญาวุฒิไกร ผู้ฝึกสอนและดูแลโครงการบอก อย่าคิดว่าผู้สอนคือผู้ให้ เพราะทำไปสักพักกลายเป็นผู้รับ อาทิ ปัญหาที่คนมองไม่เห็น จะสับสนว่าควรถือกล้องที่ตำแหน่งใด ปรากฏว่า “โอ๊ต” นักเรียนตาบอดคนหนึ่ง แนะให้เอาจอมองภาพด้านหลังแตะที่หว่างคิ้ว จะได้ภาพตำแหน่งเดียวกับคนทั่วไป คณะผู้สอนจึงตกลงเรียกวิธีนี้ว่า “โอ๊ตเทคนิค” แต่หลังจากใช้ได้สักระยะ มีปัญหาใหม่ สำหรับคนจมูกโด่ง ใช้วิธีนี้ภาพจะเป็นมุมเงย เลยตัวแบบ จึงประยุกต์ให้แตะกล้องที่ใต้คาง ซึ่งจะได้ภาพแนวระนาบพอดี
   
“เห็นเลยว่า ที่บอกบางสิ่งยิ่งให้ยิ่งงอก มีจริง คือความดีและความสุข ทุกครั้งที่เสร็จงาน จะได้ความยินดีมีพลังชีวิตกลับไป เห็นความเพียร ความตั้งใจจะถ่ายภาพให้ได้ดีของนักเรียนแล้ว ย้อนมาดูตัวเราซึ่งเป็นคนปกติ มีปัญหาเล็กน้อยกลับท้อเทียบกับคนพิการ ผมว่าปัญหาของเราเล็กน้อยอย่างยิ่ง” นพดล เล่าความในใจที่ได้ตอบแทนความเหนื่อยกลับมาว่ามากจนยากบรรยาย 
   
การจัดกิจกรรมอบรมหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่าอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนคนตาบอด เป็นกล้องคอมแพ็ก เลนส์มุมกว้าง 28 มม. เพื่อสะดวก ในการกะระยะ
   
รู้เทคนิคการจับกล้องแล้ว เมื่อจะถ่ายภาพบุคคล คนตาบอดจะสัมผัสตัวแบบที่จะถ่าย จากนั้นก็เดินถอยหลังตรงออกมาสัก 3 ก้าวแล้วกดชัตเตอร์ ตรวจความแม่นยำของระยะด้วยเสียง หากเป็นภาพหมู่ 3–5 คนขึ้นไป จะถอยให้ไกลกว่า อาจเป็น 5 ก้าว คนตาบอดทั่วไปมักประมาณการเดินไม่ให้เฉได้ แต่เพื่อความมั่นใจ ก็จะขอให้แบบที่ยืนตรงกลางส่งเสียงบอกหากเห็นว่า ผู้ถ่ายเริ่มเฉียง
   
ผู้ถูกถ่าย คนอยู่ในภาพ มีหน้าที่ช่วยบอกผลว่าภาพออกมาดีหรือไม่อย่างไร หากเห็นสวย ชอบใจก็พูดไปตรง ๆ ถ้ารู้สึกว่าควรปรับแก้ไขอย่างไรก็ให้กำลังใจกัน
   
นักถ่ายภาพที่ไม่เห็นแสงเหล่านี้ จะได้ฝึกการถ่ายมาโคร หรือภาพระยะใกล้ จากโหมดที่มีสัญลักษณ์รูปดอกไม้ในตัวกล้องเพื่อเก็บรายละเอียดของวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ด้วยวิธีที่ครูฝึกสร้างสรรค์ให้ โดยให้ใช้ฝ่ามือข้างซ้ายสัมผัสเป้าหมาย มือขวาจับกล้องให้ขอบด้านซ้ายแตะที่กลางฝ่ามือซ้าย จะได้ระยะห่างของเลนส์กับวัตถุพอดีกับการถ่ายมาโคร
   
ถ้าปลายปีนี้ มีนักเรียนตาบอดส่งบัตร ส.ค.ส.เป็นภาพดอกไม้สวยมาให้ ทราบไว้เถอะว่านั่นเป็นฝีมือที่เขาถ่ายและประกอบเป็นบัตรอวยพรด้วยฝีมือที่คณะครูอาสามาสอนไว้
   
ภาพวิวทิวทัศน์ ก็ถ่ายได้ โดยจะต้องมีคนบอกว่าข้างหน้าสภาพอย่างไร ภูเขา ทะเล แม่น้ำอยู่ตรงไหน และเพื่อให้ได้ภาพที่มีมิติลดหลั่นกัน เขาได้รับคำแนะนำให้เลือกฉากหน้า ที่มีหญ้า หรือต้นวัชพืชระดับพื้นดินติดไว้ จึงมั่นใจได้ว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นขุนเขา ทะเล จะมีแต่มุมกว้าง เห็นอะไรอยู่ลิบ ๆ เท่านั้น แต่มีมุมที่ทอดตัวจากระดับสายตาออกไป
   
นพดลบอกว่าในจำนวนผู้เข้ารับการอบรม มีที่มองเห็นแววไปได้สวยอยู่หลายคน ส่วนที่ไม่ติดอันดับก็มีเยอะ อาจเป็นเพราะโรงเรียนมีกิจกรรมมากมายจนไม่มีเวลาใช้กล้องที่ให้ไว้ คนที่สนุกกับการถ่าย หมั่นฝึกฝีมือ ถึงกับต้องออกท้องทุ่งถ่ายภาพธรรมชาติอย่างจริงจัง ทางโครงการกำลังรวบรวมผลงาน เพื่อนำมาจัดแสดงให้ได้เห็นกันว่าฝีมือขนาดไหน
   
เสียดายที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไม่มีวันว่างให้จึงต้องรอต่อไป
   
ถ้าศูนย์การค้าหรือแกลลอรีแห่งใดสนใจจะให้ไปโชว์ กลุ่มนักเรียนถ่ายภาพตาบอดเหล่านี้ก็มีผลงานอยู่แล้ว
   
ช่วยส่งเสริม เติมกำลังใจ ให้คนด้อยโอกาสได้มีโอกาสกันเถอะครับ
   
เป็นประโยชน์กับทุกคน

วีระพันธ์ โตมีบุญ

VeeraphanT@Gmail.com

http://twitter.com/vp2650

วันจันทร์ ที่ 05 กันยายน 2554 
  


สาขาวิชาการเป็นเจ้าของธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดงานแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เพื่อช่วยส่งเสริมการขาย เพราะเทอมนี้ นักศึกษาจะต้องมีกิจการเป็นของตัวเอง ที่ประกอบการค้าขายจริง ลงทุนจริง กู้เงินจริง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดสรรให้กิจการละ 100,000 บาท มีเงื่อนไขให้ใช้คืนภายใน 6 เดือน
  
ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ให้แบ่งกำไร 15 เปอร์เซ็นต์ ไปทำซีเอสอาร์ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม
  
ในบรรดากิจการที่มาแสดงครั้งนี้ ธีระนันต์ สุขแก้ว นักศึกษาผู้รับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ ซีอีโอ พร้อมกับเพื่อนรวม 5 คน เปิดเว็บไซต์ นะโม-อะมูเลตดอตคอม ( http://namo-amulet.com) ทำธุรกิจให้เช่าพระเครื่อง ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีจุดเด่น แตกต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นอื่น ๆ เพราะไม่ได้ผลิตสินค้า ไม่ต้องมีภาระค่าบรรจุหีบห่อ และไม่มีหน้าร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เว็บไซต์พระเครื่องนะโม-อะมูเลต ออกแบบให้เข้าถึงโดยง่าย ด้านซ้ายเป็นรายชื่อพระ ช่วงนี้ยังเป็นพระใหม่ ในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มพระเก่า เมื่อคลิกที่ชื่อพระก็จะมีข้อมูลวัตถุมงคลที่หลวงพ่อนั้น ๆ สร้างขึ้นอย่างย่อ พร้อมภาพขนาดเล็กถ้าต้องการรายละเอียดก็คลิกลงไปอ่านเพิ่มเติมได้
  
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจ มีเบอร์โทรศัพท์ให้สอบถามได้ทันที
  
ธีระนันต์ สนใจพระเครื่องมาตั้งแต่เด็กเพราะเป็นบุตรชายของเซียนพระท่านหนึ่ง จึงอยู่ในสภาพแวดล้อมของธุรกิจเครื่องราง และเริ่มต้นให้เช่าพระใหม่เป็นงานเสริมตั้งแต่เรียนอยู่ ม.ปลาย โดยไม่มีหน้าร้าน ใช้วิธีโฆษณาบนกูเกิล แอดเวิร์ดส์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำ ผลตอบรับดี มีผู้สนใจจากประเทศสิงคโปร์ติดต่อเข้ามาเป็นลูกค้า เพื่อนำไปให้เช่าต่อในประเทศคราวละเป็นสิบองค์
  
เพื่อนร่วมรุ่นที่มารวมตัวกันก็สนใจพระ บางรายเริ่มทำเป็นธุรกิจบ้างแล้ว
  
การร่วมเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้จึงลงตัวอย่างมาก และแม้กิจการครั้งนี้จะเป็น “การบ้าน” ซึ่งต้องคืนเงินต้นภายในกำหนด 2 เทอม แต่ไม่ใช่บริษัทจำลอง ประกอบกับการทำธุรกิจบนเว็บไซต์ที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เขาจึงตั้งใจว่าจะดำเนินการต่อไป ดังนั้น ในช่วงต้น จึงไม่รอเงินกู้ของมหาวิทยาลัย แต่ลงขันเงินค่าขนมระหว่างเพื่อน 5 คน คนละ 300 บาท ต่อสัปดาห์ เป็น 1,500 บาท เดือนละ 6,000 บาท เก็บ 8 เดือนเป็นเงิน 48,000 บาท ขณะที่ค่าลงทุนในกิจการได้แก่ ค่าเช่าเว็บไซต์ ไม่นับรวมค่าเช่าพระมาให้เช่าต่อ จะต่ำกว่านี้
  
แผนธุรกิจของนโม-อะมูเลตดอตคอม  ของพวกเขามีภาระการลงทุนไม่สูงนัก แต่ให้บริการได้กว้างไกล โดยไม่ต้องเช่าพระมาเก็บไว้ อาศัยมีเครือข่ายในวงการพระเครื่อง ทำความตกลงกันจะยืมพระมา 5 องค์ เขียนเช็คค้ำประกันครึ่งหนึ่งของวงเงินค่าเช่า จากนั้นก็แบ่งให้เพื่อนร่วมหุ้นคนละองค์ เมื่อมีผู้สนใจติดต่อเข้ามา ก็จะให้เพื่อนที่อยู่ใกล้เคียงนำพระไปให้ดูได้ หากตกลงเช่ากัน ก็ค่อยชำระเงินเต็มตามจำนวน
  
ฟังดูเหมือนง่าย แต่สำหรับการเรียนสาขาวิชานี้ ผู้เรียนจะถูกเคี่ยวให้เขียนแผนอย่างรอบคอบ ส่วนใหญ่กว่าจะผ่านก็เขียนใหม่กันหลายหน สำหรับ ธีระนันต์ ต้องเขียนถึง 15 ครั้ง หรือ 15 เล่ม เพราะเล่มที่ไม่ผ่านจะถูกขีดฆ่า ให้ทำทั้งหมด การพิจารณาทำโดยอาจารย์ที่เป็นผู้สอบบัญชี และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง เพื่อให้เป็นแผนที่สามารถขอกู้เงินจากธนาคารได้
  
การเปิดเว็บไซต์ ให้เช่าพระเครื่อง ไม่ใช่เปิดแล้วรอลูกค้าเข้ามาอย่างเดียว แต่ต้องใช้เทคนิคทางการตลาดหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งเอาประสบการณ์เดิมจากแอดเวิร์ดส์ส่วนเครื่องมือใหม่ในช่วงต่อจากนี้ ก็จะใช้ระบบโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก (www.facebook.com) และทวิตเตอร์ (www.twitter.com) สื่อสารข้อมูลดึงดูดผู้สนใจเข้ามาสู่เว็บ
  
“ผมเลือกออนไลน์ เพราะการลงทุนต่ำ ไม่ต้องผ่านมือสอง สาม จากเราก็ถึงผู้บริโภค ขยายตลาดไปได้ทั่วโลก การประกาศสินค้าทีเดียว ทั่ว 77 จังหวัดได้เห็นพร้อมกันหมด”
  
แม้เป็นงานของนักศึกษา แต่ทำตลาดได้จริงในโลกออนไลน์ ด้วยต้นทุนน้อยกว่าและผลตอบแทนสูง.

วีระพันธ์ โตมีบุญ

VeeraphanT@Gmail.com

http://twitter.com/vp2650