ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วิจัยผักตบชวาขึ้นอุตสาหกรรมแฟชั่น

 ผลวิจัยพัฒนาผักตบชวาเป็นสินค้าคุณภาพ เกิดขึ้นจริง มทร.ธัญบุรี รวมทีมวิจัย 4 คณะ รับซื้อมาผลิตเป็นเส้นใย ทำสิ่งทอ ต่อยอดอุตสาหกรรมแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้

 


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)< https://www.nrct.go.th/ > กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชน ติดตามผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผักตบชวาอุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี < https://www.het.rmutt.ac.th/ > และคณะนักวิจัย ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี (มทร.ธัญบุรี) < https://www.rmutt.ac.th/ > เมื่อวันที่7ธค64  ทั้งนี้ โครงการได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้กระทรวง อว. ประจำปี 2560 จนสามารถสร้างแบรนด์ผ้าชื่อ “สาคร” และ แบรนด์ “บ้านหัตถศิลป์” อีกด้วย โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจ








ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย  กล่าวว่า นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบทั้งเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี ของใช้ตกแต่งบ้านเรือน กระเป๋าแฟชั่น เป็นต้น ปัจจุบันมีการต่อยอดให้เป็นชุมชนนวัตกรรมต้นแบบ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมชุมชน ลักษณะพิเศษของเส้นใยผักตบชวา ระบายความร้อนได้ดี มีความแข็งแรง ดูแลรักษาง่ายเช่นเดียวกับผ้าเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ น้ำหนักเบา มีลวดลายที่มีผิวสัมผัสสวยงามเป็นธรรมชาติ ตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เกาหลี หลังจากนี้จะพัฒนาต่อยอดลวดลายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพต่อไป

ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ได้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งจัด โดย วช. ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีที่โครงการฯ คว้ารางวัล Gold Award โดยได้รับถ้วยรางวัลจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ดร. ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัย ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การออกแบบแฟชั่น วัสดุที่นำมาออกแบบ เนื้อผ้า โครงสร้างผ้า ลายผ้า และวัสดุประกอบ แบบตัดและวิธีการตัดเย็บ เน้นการผลิตในระบบอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่คำนึงถึงความถึงความประหยัดและต้นทุนการผลิต การออกแบบแฟชั่นได้รับความร่วมมือจากบริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด จากนั้นนำผักตบชวามาเป็นส่วนประกอบ สัดส่วนที่ใช้ผสม ผักตบชวา 40% : ฝ้าย 60% หรือ ผักตบชวา 20%  : ฝ้าย 80% โดยใช้เส้นใยเพียง 2 ชนิดในการผสม เพื่อให้เป็น ธรรมชาติมากที่สุด กรณีใช้ผักตบ 40%  จะผิวสัมผัสแบบจับต้องได้ รู้สึกถึงความเป็นผักตบชวาอยู่ ส่วนชนิดผสม 20% จะได้ผิวมันนุ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วน 40% ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดแล้ว ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นด้ายผักตบชวา 4 ด้าน คือ เบอร์เส้นด้าย เกลียว ความสม่ำเสมอของเส้นด้าย และความต้านทานต่อแรงดึงขาดก่อนการผลิตเครื่องแต่งกายต้นแบบ

รายงานข่าวแจ้งว่า นักวิจัยได้ต่อยอดองค์ความรู้สู่ชุมชนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งได้ประสานงานกับชุมชนผู้ผลิตกระเป๋าหนังจากวัสดหนังส่วนเกินในอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมพัฒนารูปแบบให้มีผ้าเส้นใยผักตบเป็นส่วนประกอบหลัก  


มีชุมชนต่าง ๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตเฟอร์นิเจอร์ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา การผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สนับสนุนทางเทคนิคไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าจะผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยบริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ รับผิดชอบการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้าย โดยช่วงการเปิดตัวทดลอง ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติ

ปัจจุบัน ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบทั้งในวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พะเยา เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  < https://www.facebook.com/hetrmutt/>



ส่วนผักตบที่นำมาใช้ จะเลือกชนิดที่อายุประมาณ 4 เดือน ได้ขนาดลำต้นยาว 50 ซม.ขึ้นไป คณะวิจัย สนับสนุนโดยรับซื้อจากชาวบ้าน แล้วนำมาตากและบดย่อย เข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นใย