ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564

14,094 กม.=328 วัน / ไทย เมียนมา อินเดีย / เส้นทางชีวิตเหยี่ยวดำไทย

 

14,094 กม.=328 วัน

ไทย เมียนมา อินเดีย

เส้นทางชีวิตเหยี่ยวดำไทย

 

         ที่สุดของความใส่ใจจากทีมวิจัยนกนักล่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียม ก็ทำให้การเฝ้าติดตามการเดินทางของ”นาก” ลูกเหยี่ยวดำไทย ซึ่งเกิดในบริเวณทุ่งอาศัยของเหยี่ยวอพยพ ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเดินทางออกจากรังวันที่ 16 พฤษภาคม จนถึงประเทศอินเดีย ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย เข้าพื้นที่ปากพลี ดินแดนเกิดของมัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

         ระบบติดตามด้วยดาวเทียม จีพีเอส แทรกเกอร์ ส่งรายงานการเดินทาง ปรากฏบนแผนที่ให้เห็นเป็นระยะ รวมทั้งสิ้น 14,093.94 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 328 วันหรือ 10 เดือน 24 วัน



การติดตามลูกเหยี่ยวดำครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษา ขนาดพื้นที่อาศัยและรูปแบบการใช้พื้นที่ของเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่น Habitat use and home range of Black Kite Milvus migrans govinda งานวิจัยนกนักล่าและเวขศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นำทีมโดย น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว ซึ่งได้เข้าพื้นที่ศึกษาอย่างละเอียดเป็นระบบ ได้แก่การจำแนกสายพันธุ์ การนับจำนวน ทำให้ได้ข้อมูลมากกว่าที่เข้าใจกันว่าเป็นเหยี่ยวดำอพยพ ว่า แท้จริงมีทั้ง เหยี่ยวดำใหญ่ หรือเหยี่ยวหูดำ (Milvus migrans lineatus มิลวัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส) ราว 2,000 ตัว และมีเหยี่ยวดำไทย(Milvus migrans govinda:มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ) รวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามาจากไหน

คณะวิจัยได้นำลูกเหยี่ยวดำไทยตัวหนึ่ง เกิดช่วงวันที่ 7/8 กุมภาพันธ์ 2563  ตั้งชื่อ”นาก” รหัส R96 ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียม หรือจีพีเอส จีเอสเอ็ม แทร็กเกอร์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ด้วยอุปกรณ์ซึ่งมีขนาดเล็กน้ำหนักไม่เกิน3% ของนก รัดไว้ด้านหลัง ในตำแหน่งไม่รบกวนการรับพลังงานแสงอาทิตย์ อันนับเป็นครั้งแรกของโลก ที่เอาอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมเหน็บหลังเหยี่ยวดำไทย

         นาก ออกเดินทางตามลำพัง หลังจาก พ่อและแม่ของมันบินล่วงหน้าไปพักใหญ่ เส้นทางที่รายงานกลับมาเป็นระยะ เมื่อผ่านจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์จีเอสเอ็ม บอกว่ามันบินออกจากปากพลี ไปทาง จ.สระบุรี ผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา ออกจากประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรี เข้าเขตเมืองทวาย ประเทศเมียนมาร์ ต่อไปทางบังคลาเทศ

โดยออกพ้นจากประเทศไทย วันที่ 17 พฤษภาคม ข้ามไปถึงประเทศเมียนมา ทางเหนือของเขตตะนาวศรีพักเกาะนอนบริเวณใกล้ปากอ่าวมอมะกันในวันที่ 18 พฤษภาคม จากนั้นบินข้ามทะเลบริเวณหาดนาปูแล ช่วงเวลา 15.00 น. จนวันที่ 19 ขึ้พฤษภาคม ขึ้นฝั่งที่อ่าวเมาะตะมะ เขตย่างกุ้ง เกาะนอนบริเวณ ดังกล่าวเวลา 23.00 น.

1. เส้นสีส้ม เส้นทางไปอินเดีย ตะวันตก Westward 
2. เส้นสีชมพู เส้นทางกลับจากอินเดีย มาที่อ.ปากพลี จ. นครนายก บ้านเกิด


จากนั้น นากบินไปอาศัยในพื้นที่เขตพะโค มัณฑะเลย์และกรุงเนปิดอว์ตามลำดับ วันที่ 22 พฤษภาคม บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่เขตมาเกว พักเกาะนอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตมาเกว แล้วหากินในบริเวณดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ก็บินขึ้นเหนือเข้า ผ่านทางทิศตะวันตกของเขตสะกาย อาศัยหากินบริเวณหุบเขาราบสูงของเมืองกะเล่ และบางส่วนทางตอนเหนือของรัฐชินจนถึงวันที่ 5 มิถุนายน

    วันที่ 6 มิถุนายน เหยี่ยวดำ R 96 บิน มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกข้ามทิวเขาสูงของรัฐชิน เข้าสู่เขตแดนประเทศอินเดียทางรัฐมิโซรัม  

    วันที่ 7 มิถุนายน เหยี่ยวดำยังคงบินไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ทางตอนเหนือของเขตจิตตะกองและกลับเข้าสู่เขตแดนของประเทศอินเดียอีกครั้งทางรัฐตริปุระ

    วันที่ 8 มิถุนายนเหยี่ยวดำบินเข้าสู่เขตแดนประเทศบังคลาเทศทางทิศตะวันออกผ่านเขตสิเลฏ วันที่ 9 มิถุนายน บินเข้าสู่กรุงธากา เกาะนอนบริเวณสวนสาธารณะรัมนาใกล้มหาวิทยาลัยธากา อาศัยหากินแถวนั้น จนถึงบริเวณใกล้แม่น้ำปัทมา จนถึงวันที่วันที่ 10 มิถุนายน



    จากนั้นตำแหน่งจากเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมระบุว่าวันที่ 12 มิถุนายน เหยี่ยวดำอยู่ในเขตแดนของประเทศอินเดีย บริเวณรัฐฌาร์ขันฑ์ เคลื่อนที่ต่อไปทางทิศตะวันตก โดยในวันที่ 14 มิถุนายน มีตำแหน่งอยู่ในรัฐมัธยประเทศ อาศัยหากินอยู่ในรัฐนี้จนถึงวันที่ 6 กรกฏาคม แล้วเริ่มมุ่งหน้าสู่รัฐราชสถานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

    ตำแหน่งของเหยี่ยวดำ เป็นบริเวณทิ้งซากสัตว์จอร์เบียตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

    เดือนตุลาคมเหยี่ยวดำ เคลื่อนมาอาศัยในรัฐมหาราษฏระทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเหยี่ยวดำอยู่ในเขตเมืองมุมไบ แล้วเริ่มอพยพลงทางทิศใต้สู่รัฐกัว ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย

    เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2564 เหยี่ยวดำอพยพทางทิศใต้ ไปยังรัฐทมิฬนาฑูเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่เมืองเจนไน ฝั่งอ่าวเบงกอล แล้วลัดเลาะริมฝั่งอ่าวเบงกอลขึ้นทิศเหนือผ่านรัฐอานธรประเทศจนถึงเดือนมีนาคม แล้วเดินทางต่อไปยังรัฐโอริสสาและเบงกอลตะวันตกตามลำดับ เข้าสู่เขตประเทศบังคลาเทศในวันที่ 6 มีนาคม เข้าสู่เขตประเทศอินเดียในรัฐมิโซรัมในวันที่ 9 มีนาคม จากนั้นวันที่ 10 มีนาคม ตำแหน่งของเหยี่ยวดำเข้าสู่เขตประเทศเมียนมาร์อพยพลงสู่ทางทิศใต้จนถึงชายหาดอ่าวเมาะตะมะ ในเขตอิรวดีในวันที่ 15มีนาคม แล้วบินข้ามมหาสมุทรเวลา 09.00 น. แล้วพักอาศัยเกาะ North Island วันที่ 16 เวลา 24.00 น. ใช้เวลาบินข้ามทะเลรวม 15 ชั่วโมง แล้วเกาะนอนในเขตตะนาวศรี

    วันที่ 17 มีนาคม เหยี่ยวดำบินเข้าเขตประเทศไทยทางอ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี วันที่ 18 มีนาคม บินผ่านจ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มุ่งหน้าทางเหนือตามฝั่งทะเลอ่าวไทยผ่านจ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ปทุมธานีพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรีลพบุรีชัยนาท นครสวรรค์

    วันที่ 23 มีนาคม เกาะนอนบริเวณ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์อยู่อาศัยในบริเวณนั้นและจ.ใกล้เคียง     

    จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564 เหยี่ยวดำ รหัส R96 เดินทางเข้าสู่ อ.ปากพลี จ.นครนายก ถิ่นกำเนิด เกาะนอนในพื้นที่ทุ่งใหญ่สารพัดประโยชน์ ห่างจากรังที่เกิดประมาณ 3 กิโลเมตร

    รวมระยะทางการอพยพ ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 – 10 เมษายน พ.ศ. 2564 เท่ากับ 14,093.94 กิโลเมตร

    ความลับการอพยพของลูกเหยี่ยวดำไทย ได้รับการเปิดเผยจากงานวิจัยด้วยข้อมูลน่าเชื่อถือให้เห็นที่มาที่ไปอย่างชัดแจ้ง

    ย่อมส่งผลให้การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนรู้มีความเป็นระบบยิ่งขึ้น




นาก เกิด/ฟักจากไข่ 7/8 กพ 2563

ติดดาวเทียมขณะอยู่ในรัง 9 เมย. 2563

16 พค 2563 บินออกจากปากพลี

18 พค. บินออกจากประเทศไทย ที่จ.กาญจนบุรี

18 มีค บินกลับมาประเทศไทย ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

10 เมย นากบินกลับมาถึง ทุ่งใหญ่ปากพลี  เวลา 14.55น

 

รวมเวลาเดินทาง 10เดือน 24 วัน

ระยะทาง14,093.94 กม.