ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

วิจัยติดปีก สะกดรอยเหยี่ยวดำ 4,000ไมล์.. ไทย เมียนมา อินเดีย!!

วิจัยติดปีก

สะกดรอยเหยี่ยวดำ

4,000ไมล์.. ไทย เมียนมา อินเดีย!! 


 สรรพสิ่งในโลก ต้นไม้ สายน้ำ สัตว์ป่า ไม่เว้นแม้แมลงตัวนิด ล้วนสัมพันธ์ สำคัญ ต่อมนุษย์และทุกชีวิต ขาดส่วนใดสักเสี้ยว ก็อาจทำให้ความปกติ กลายพันธุ์ พิกล พิการได้

การเฝ้าดู รู้ตาม ศึกษาวิจัย เสริมเพิ่มภูมิปัญญา หาประโยชน์ เพื่อรักษาสมดุลให้โลกและมนุษย์ จึงเป็นปัจจัยที่จำเป็นยิ่ง




 การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเหยี่ยวดำไทย (Milvus migrans govinda:มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ) ของ ผศ.. สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าโครงการวิจัยเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่นในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นงานพัฒนาภูมิปัญญา เพื่อการเรียนรู้ การอนุรักษ์แก่ชุมชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนต่อยอดสู่การศึกษาสำหรับดูแลทรัพยากรโลก

 ก่อนการวิจัยนี้จะเกิด วันหนึ่ง เมื่อสักสิบปีที่ผ่านมา ราษฎรท้องที่ ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก สังเกตว่า มีนกเหยี่ยวสีดำตัวเขื่องฝูงใหญ่ทยอยลงอาศัยเกาะต้นยูคาลิปตัสบนแปลงที่สาธารณะ โอบล้อมด้วยที่นากว่า 47,000 ไร่ ที่มีลักษณะเฉพาะ มีน้ำท่วมสูง2 เมตร ชาวนาต้องเลือกข้าวพันธุ์หนีน้ำ ลำต้นยาว ให้รวงออกพ้น ไม่ต้องทนสำลัก จนถึงวันเก็บเกี่ยว



     ชาวบ้านแถวนั้น ส่วนใหญ่ มั่นคงในศีลธรรม มีชีวิตบนความพอเพียง นกจึงปลอดภัย ไม่มีใครทำร้าย ทั้งได้อยู่กับแหล่งอาหารโปรตีนหลักคือหนูนา ที่เป็นศัตรูของต้นข้าว เกิดสถานะการพึ่งพากันอย่างดี

 สิทธิชัย อิ่มจิตรเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งมีที่ทำกินใกล้จุดพักของเหยี่ยว เฝ้ามองความเป็นไป สังเกตจำนวนที่เพิ่มขึ้นในปีถัดมา ทั้งด้วยความที่อยู่ใกล้ และจิตใจเมตตา สื่อให้สัตว์ปีกฝูงใหญ่วางใจ ไม่ตื่นหนี ถึงขั้นเดินไปได้ถึงโคนต้น เจอลูกนกตกจากรังก็ประคองคืน ถ้ารังเสียหายก็เก็บมาเลี้ยง ป่วยก็ส่งรักษา

 สิทธิชัย อิ่มจิตร

 ที่สุดก็รู้ถึงนักวิจัย น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ซึ่งติดตามค้นคว้าเรื่องราวของเหยี่ยว นกอินทรีย์ แร้ง เหล่าสัตว์ปีกนักล่ามาหลายปี เข้าพื้นที่ศึกษาอย่างละเอียดเป็นระบบ ตั้งแต่การจำแนกสายพันธุ์ การนับจำนวน ส่วนใหญ่ เหยี่ยวอพยพเหล่านี้คือ เหยี่ยวดำใหญ่ หรือเหยี่ยวหูดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Milvus migrans lineatus (มิลวัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส) มีราวๆ 2,000 ตัว ในบริเวณนั้น ยังมีเหยี่ยวดำไทย(Milvus migrans govinda:มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ) รวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามาจากไหน

สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว 


 คณะวิจัยได้นำลูกเหยี่ยวดำไทย ตั้งชื่อนากรหัส R96 ซึ่งเกิดที่ อ. ปากพลี จ.นครนายก ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียม หรือจีพีเอส จีเอสเอ็ม แทร็กเกอร์ เพื่อให้ส่งตำแหน่งที่บิน กลับมา ด้วยสัญญาณโทรศัพท์มือถือจีเอสเอ็ม เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กน้ำหนักไม่เกิน3% ของตัวนก รัดไว้ด้านหลัง ในตำแหน่งไม่รบกวน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์



                ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก ที่เอาอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมเหน็บหลังเหยี่ยวดำไทย เพราะไม่เคยมีใครทำ จะมีก็แต่ทีมนักวิจัยอินเดียเคยเอาดาวเทียมติดเหมือนกัน แต่ทำกับเหยี่ยวดำใหญ่ หรือ เหยี่ยวหูดำ เหยี่ยวดำอพยพ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มิลลัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส (Milvus migrans lineatus)



หลังจากเจ้านากผละจากรังสักพัก ก็ได้ข้อมูลกลับมาจากการส่งสัญญาณดาวเทียม น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว เปิดเผยว่า ลูกเหยี่ยวตัวนี้ ออกจากไข่ในเดือน กพ. 63 จากนั้นพ่อ แม่ ก็หาอาหารมาป้อน จนโตขึ้นและสอนบิน การหาอาหาร อีกราว 2 เดือน แล้วก็บินจากไป ในเดือน พ.ค. 63 เจ้านาก ก็ออกเดินทาง

” นาก ออกเดินทาง จากปากพลี ออกไปทาง จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ออกจากประเทศไทย ที่ จ.กาญจนบุรี เข้าเขตเมียนมาร์ ที่เมืองทวาย เลาะชายฝั่งทะเล ขึ้นทางเหนือ อพยพผ่านเนปิดอร์ เมืองหลวงประเทศ เมียนมาร์ ไปทางบังคลาเทศ ล่าสุดขณะนี้ อาศัยอยู่ในรัฐคานัทฑะกะ ประเทศอินเดีย รวมระยะทางอพยพ 4,000 กิโลเมตร “ น.สพ.ดร.ไชยยันต์ กล่าวและขยายความว่า การติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม ทำให้ได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเหยี่ยวดำไทย ที่เคยเข้าใจว่าเป็นนกประจำถิ่น อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่จริง มันมีการเดินทางไกลเส้นทางอพยพถึงประเทศอินเดีย


ทั้งมีช่วงหนึ่ง คือ ตอนเดินทางเหนือชายฝั่งทะเล นอกเขตประเทศไทยถึงเมียนมาร์ นากบินกลางคืน ซึ่งข้อมูลเดิม เข้าใจกันว่าเหยี่ยวเดินทางเฉพาะกลางวัน

สิ่งที่ทีมวิจัย ติดใจก็คือ การเดินทางของเจ้านาก เป็นการบินตามลำพัง หรือตามฝูงอื่น แต่ไม่ใช่ไปพร้อมกับพ่อแม่ เนื่องจากบินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ดังนั้นจึงมีแผนว่า โครงการต่อไป คงต้องติดอุปกรณ์กันทั้งครอบครัว ปีนี้ พ.ศ. 2564 จึงมีแผนติดตามเหยี่ยวดำไทยด้วยดาวเทียมเพิ่มอีก 6 ตัว

 ที่รังก็ติดกล้อง camera trap (แคมเมอร่า แทรป) หรือกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ในธรรมชาติ ศึกษาการใช้ชีวิตอย่างละเอียด


คณะวิจัยสาธิตให้สื่อมวลชนเห็นว่า การติดตั้งอุปกรณ์ ทำอย่างระแวดระวัง ให้มีการรบกวนวิถีชีวิตน้อยที่สุด ตัวเครื่องรับสัญญาณดาวเทียวก็มีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน การทำวิจัย จะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน

ถึงตรงนี้ มักมีคำถามว่า ลงทุนขนาดนี้ เพื่อ... คำตอบก็คือ ให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้านของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เรียนรู้ผ่านชีวิตของสัตว์ หากจะมีปัญหาไม่พึงประสงค์ ก็อาจเห็นสัญญาณบางอย่างได้ก่อนจะเกิด


สำหรับบางคน ฟังแล้ว ยังยากจะเข้าใจ แต่ก็มีมุมที่การยอมรับกันทั่วไปว่า การมีเหยี่ยวอพยพมาอาศัยที่ อ.ปากพลี จ.นครนายก จำนวนมาก ย่อมเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งกับคนทั่วไปที่เริ่มสนใจศึกษาธรรมชาติ จนถึงทัวริสต์ต่างแดนที่ท่องโลกเพื่อศึกษาชีวิตสัตว์ ซึ่งจะหมายถึงการสร้างโอกาสและรายได้กระจายและตกทอดยังท้องถิ่นต่าง ๆ ชุมชนเองก็จะเกิดความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเมื่อรู้จักมากยิ่งขึ้นจากงานวิจัย ก็จะได้ช่วยกันถนอมรักษาให้ดีและถูกทาง

เข้าใจนะว่า งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์สำคัญต่อมนุษย์ยังไง...