ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วิจัยผักตบชวาขึ้นอุตสาหกรรมแฟชั่น

 ผลวิจัยพัฒนาผักตบชวาเป็นสินค้าคุณภาพ เกิดขึ้นจริง มทร.ธัญบุรี รวมทีมวิจัย 4 คณะ รับซื้อมาผลิตเป็นเส้นใย ทำสิ่งทอ ต่อยอดอุตสาหกรรมแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้

 


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)< https://www.nrct.go.th/ > กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชน ติดตามผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผักตบชวาอุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี < https://www.het.rmutt.ac.th/ > และคณะนักวิจัย ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี (มทร.ธัญบุรี) < https://www.rmutt.ac.th/ > เมื่อวันที่7ธค64  ทั้งนี้ โครงการได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้กระทรวง อว. ประจำปี 2560 จนสามารถสร้างแบรนด์ผ้าชื่อ “สาคร” และ แบรนด์ “บ้านหัตถศิลป์” อีกด้วย โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจ








ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย  กล่าวว่า นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา สร้างมูลค่าเพิ่มสู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบทั้งเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรี ของใช้ตกแต่งบ้านเรือน กระเป๋าแฟชั่น เป็นต้น ปัจจุบันมีการต่อยอดให้เป็นชุมชนนวัตกรรมต้นแบบ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมชุมชน ลักษณะพิเศษของเส้นใยผักตบชวา ระบายความร้อนได้ดี มีความแข็งแรง ดูแลรักษาง่ายเช่นเดียวกับผ้าเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ น้ำหนักเบา มีลวดลายที่มีผิวสัมผัสสวยงามเป็นธรรมชาติ ตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เกาหลี หลังจากนี้จะพัฒนาต่อยอดลวดลายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพต่อไป

ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น” ได้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งจัด โดย วช. ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีที่โครงการฯ คว้ารางวัล Gold Award โดยได้รับถ้วยรางวัลจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ดร. ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล นักวิจัย ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การออกแบบแฟชั่น วัสดุที่นำมาออกแบบ เนื้อผ้า โครงสร้างผ้า ลายผ้า และวัสดุประกอบ แบบตัดและวิธีการตัดเย็บ เน้นการผลิตในระบบอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่คำนึงถึงความถึงความประหยัดและต้นทุนการผลิต การออกแบบแฟชั่นได้รับความร่วมมือจากบริษัทสยามรุ่งเรือง จำกัด จากนั้นนำผักตบชวามาเป็นส่วนประกอบ สัดส่วนที่ใช้ผสม ผักตบชวา 40% : ฝ้าย 60% หรือ ผักตบชวา 20%  : ฝ้าย 80% โดยใช้เส้นใยเพียง 2 ชนิดในการผสม เพื่อให้เป็น ธรรมชาติมากที่สุด กรณีใช้ผักตบ 40%  จะผิวสัมผัสแบบจับต้องได้ รู้สึกถึงความเป็นผักตบชวาอยู่ ส่วนชนิดผสม 20% จะได้ผิวมันนุ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วน 40% ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดแล้ว ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นด้ายผักตบชวา 4 ด้าน คือ เบอร์เส้นด้าย เกลียว ความสม่ำเสมอของเส้นด้าย และความต้านทานต่อแรงดึงขาดก่อนการผลิตเครื่องแต่งกายต้นแบบ

รายงานข่าวแจ้งว่า นักวิจัยได้ต่อยอดองค์ความรู้สู่ชุมชนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งได้ประสานงานกับชุมชนผู้ผลิตกระเป๋าหนังจากวัสดหนังส่วนเกินในอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมพัฒนารูปแบบให้มีผ้าเส้นใยผักตบเป็นส่วนประกอบหลัก  


มีชุมชนต่าง ๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อไปประยุกต์ใช้แล้ว อาทิ ชุมชนผลิตเสื้อผ้า ชุมชนผลิตเฟอร์นิเจอร์ (เคหะสิ่งทอ) ผลิตพรมจากผักตบชวา การผลิตพรมจะมีทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สนับสนุนทางเทคนิคไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อรา ส่วนผ้าทอที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าจะผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยบริษัทก้องเกียรติเท็กซ์ไทล์ รับผิดชอบการผลิตผ้า ผลิตเส้นด้าย โดยช่วงการเปิดตัวทดลอง ได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติ

ปัจจุบัน ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบทั้งในวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พะเยา เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  < https://www.facebook.com/hetrmutt/>



ส่วนผักตบที่นำมาใช้ จะเลือกชนิดที่อายุประมาณ 4 เดือน ได้ขนาดลำต้นยาว 50 ซม.ขึ้นไป คณะวิจัย สนับสนุนโดยรับซื้อจากชาวบ้าน แล้วนำมาตากและบดย่อย เข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นใย


วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

หนุ่มหัวใสใช้ใต้ถุนบ้านเปิดร้านกาแฟ (ตัวอย่าง)

 หนุ่มใต้’ หัวใสใช้ใต้ถุนบ้านอายุกว่า 50 ปี เปิดร้านกาแฟ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 - 14:31 น.


‘หนุ่มใต้’ หัวใสใช้ใต้ถุนบ้านอายุกว่า 50 ปี เปิดร้านกาแฟ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน รายงานข่าวว่า ที่หมู่ 2 บ้านท่าประดู่ ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี จ.สงขลา นายณัฐวัติ ปานสุข อายุ 24 ปี เจ้าของร้านกาแฟโดยใช้ใต้ถุนบ้านอายุ 58 ปี เปิดร้านขายกาแฟและเครื่องดื่ม ชื่อร้าน มูดดี้ โรสเตอร์ (moody roaster) สร้างรายได้งาม ขายได้วันละกว่า 100 แก้ว ส่วนกาแฟจะขายเฉพาะวันพฤหัสบดีต้นเดือน กับพฤหัสบดีสิ้นเดือนเท่านั้น



ร้านมีลูกค้าที่ชอบดื่มกาแฟและเครื่องดื่มเย็นๆ จาก อ.นาทวี และพื้นที่ใกล้เคียงแวะเข้ามาดื่มกันเป็นจำนวนมาก เพราะติดใจในรสชาติชา-กาแฟที่มีกลิ่นหอม สามารถสัมผัสถึงรสชาติ ความหอมอร่อยได้ บรรยากาศแบบบ้านๆ กลางธรรมชาติ ใช้ลังไม้เป็นเก้าอี้ และใช้ท่อนไม้ใหญ่เป็นโต๊ะ วางอยู่ใต้ต้นไม้บนสนามหญ้า ทุกวันนี้มีลูกค้าแห่มาอุดหนุนเป็นจำนวนมาก




นายณัฐวัติกล่าวว่า เริ่มจากความต้องการที่จะสร้างความเป็นโลคอลในธุรกิจที่ต้องจะทำในอนาคตได้เริ่มจากอะไรเล็กๆ โดยการเป็นร้านกาแฟก่อน ซึ่งกาแฟที่ผมทำนี้ ผมกินอยู่แล้วปกติ อาจจะมีคนแวะเวียนผ่านไปผ่านมาก็เริ่มเข้ามาติด เข้ามากินกาแฟมากขึ้น ก็อยากจะโฆษณาในเรื่องของกาแฟ “เดิ้งเฟซ” เป็นกาแฟเดิ้งเฟซยุคที่ 3 ของกาแฟแล้ว



ที่คนจะกินกาแฟเหมือนไวน์ สามารถบ่งบอกถึงรสชาติได้ บ่งบอกลีเจนด์ได้ ก็เลยทำเป็นร้านกาแฟขึ้นมาเพื่อจะขายของที่ร้าน




“ผมต้องหาความเป็นกาแฟอยู่แล้ว เพราะที่นี่เป็นร้านกาแฟ ผมก็เลยมีพวกกาแฟเป็นพวกซิงเกิลออริจิ้น ข้างหน้าเดียวจะมีฟุตเตจขึ้นให้ เป็นกาแฟซิงเกิลออริจิ้นที่ผมต้องการที่จะขาย ต้องการให้คนได้รู้จักกาแฟมากขึ้น ปัจจุบันมีลูกค้ามีมากหรือไม่”


นายณัฐวัติกล่าวว่า ถ้าสมมุติว่าวันจันทร์-ศุกร์ ขายได้วันละประมาณ 100 แก้ว ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ 200 แก้ว และจะมีกิจกรรมคือคอฟฟี่เดย์ จะเป็นทุกวันพฤหัสบดีต้นเดือน กับพฤหัสบดีสิ้นเดือน วันนั้นจะขายแค่กาแฟอย่างเดียว เพราะต้องการให้คนได้เข้าถึงกาแฟมากขึ้น เปิดร้านกาแฟมาได้ 1 ปีเต็มๆ และที่แก้วจะมีลายเซ็นร้านทุกใบ


วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564

14,094 กม.=328 วัน / ไทย เมียนมา อินเดีย / เส้นทางชีวิตเหยี่ยวดำไทย

 

14,094 กม.=328 วัน

ไทย เมียนมา อินเดีย

เส้นทางชีวิตเหยี่ยวดำไทย

 

         ที่สุดของความใส่ใจจากทีมวิจัยนกนักล่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียม ก็ทำให้การเฝ้าติดตามการเดินทางของ”นาก” ลูกเหยี่ยวดำไทย ซึ่งเกิดในบริเวณทุ่งอาศัยของเหยี่ยวอพยพ ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเดินทางออกจากรังวันที่ 16 พฤษภาคม จนถึงประเทศอินเดีย ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย เข้าพื้นที่ปากพลี ดินแดนเกิดของมัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

         ระบบติดตามด้วยดาวเทียม จีพีเอส แทรกเกอร์ ส่งรายงานการเดินทาง ปรากฏบนแผนที่ให้เห็นเป็นระยะ รวมทั้งสิ้น 14,093.94 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 328 วันหรือ 10 เดือน 24 วัน



การติดตามลูกเหยี่ยวดำครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษา ขนาดพื้นที่อาศัยและรูปแบบการใช้พื้นที่ของเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่น Habitat use and home range of Black Kite Milvus migrans govinda งานวิจัยนกนักล่าและเวขศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นำทีมโดย น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว ซึ่งได้เข้าพื้นที่ศึกษาอย่างละเอียดเป็นระบบ ได้แก่การจำแนกสายพันธุ์ การนับจำนวน ทำให้ได้ข้อมูลมากกว่าที่เข้าใจกันว่าเป็นเหยี่ยวดำอพยพ ว่า แท้จริงมีทั้ง เหยี่ยวดำใหญ่ หรือเหยี่ยวหูดำ (Milvus migrans lineatus มิลวัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส) ราว 2,000 ตัว และมีเหยี่ยวดำไทย(Milvus migrans govinda:มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ) รวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามาจากไหน

คณะวิจัยได้นำลูกเหยี่ยวดำไทยตัวหนึ่ง เกิดช่วงวันที่ 7/8 กุมภาพันธ์ 2563  ตั้งชื่อ”นาก” รหัส R96 ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียม หรือจีพีเอส จีเอสเอ็ม แทร็กเกอร์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ด้วยอุปกรณ์ซึ่งมีขนาดเล็กน้ำหนักไม่เกิน3% ของนก รัดไว้ด้านหลัง ในตำแหน่งไม่รบกวนการรับพลังงานแสงอาทิตย์ อันนับเป็นครั้งแรกของโลก ที่เอาอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมเหน็บหลังเหยี่ยวดำไทย

         นาก ออกเดินทางตามลำพัง หลังจาก พ่อและแม่ของมันบินล่วงหน้าไปพักใหญ่ เส้นทางที่รายงานกลับมาเป็นระยะ เมื่อผ่านจุดที่มีสัญญาณโทรศัพท์จีเอสเอ็ม บอกว่ามันบินออกจากปากพลี ไปทาง จ.สระบุรี ผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา ออกจากประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรี เข้าเขตเมืองทวาย ประเทศเมียนมาร์ ต่อไปทางบังคลาเทศ

โดยออกพ้นจากประเทศไทย วันที่ 17 พฤษภาคม ข้ามไปถึงประเทศเมียนมา ทางเหนือของเขตตะนาวศรีพักเกาะนอนบริเวณใกล้ปากอ่าวมอมะกันในวันที่ 18 พฤษภาคม จากนั้นบินข้ามทะเลบริเวณหาดนาปูแล ช่วงเวลา 15.00 น. จนวันที่ 19 ขึ้พฤษภาคม ขึ้นฝั่งที่อ่าวเมาะตะมะ เขตย่างกุ้ง เกาะนอนบริเวณ ดังกล่าวเวลา 23.00 น.

1. เส้นสีส้ม เส้นทางไปอินเดีย ตะวันตก Westward 
2. เส้นสีชมพู เส้นทางกลับจากอินเดีย มาที่อ.ปากพลี จ. นครนายก บ้านเกิด


จากนั้น นากบินไปอาศัยในพื้นที่เขตพะโค มัณฑะเลย์และกรุงเนปิดอว์ตามลำดับ วันที่ 22 พฤษภาคม บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่เขตมาเกว พักเกาะนอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตมาเกว แล้วหากินในบริเวณดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม ก็บินขึ้นเหนือเข้า ผ่านทางทิศตะวันตกของเขตสะกาย อาศัยหากินบริเวณหุบเขาราบสูงของเมืองกะเล่ และบางส่วนทางตอนเหนือของรัฐชินจนถึงวันที่ 5 มิถุนายน

    วันที่ 6 มิถุนายน เหยี่ยวดำ R 96 บิน มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกข้ามทิวเขาสูงของรัฐชิน เข้าสู่เขตแดนประเทศอินเดียทางรัฐมิโซรัม  

    วันที่ 7 มิถุนายน เหยี่ยวดำยังคงบินไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ทางตอนเหนือของเขตจิตตะกองและกลับเข้าสู่เขตแดนของประเทศอินเดียอีกครั้งทางรัฐตริปุระ

    วันที่ 8 มิถุนายนเหยี่ยวดำบินเข้าสู่เขตแดนประเทศบังคลาเทศทางทิศตะวันออกผ่านเขตสิเลฏ วันที่ 9 มิถุนายน บินเข้าสู่กรุงธากา เกาะนอนบริเวณสวนสาธารณะรัมนาใกล้มหาวิทยาลัยธากา อาศัยหากินแถวนั้น จนถึงบริเวณใกล้แม่น้ำปัทมา จนถึงวันที่วันที่ 10 มิถุนายน



    จากนั้นตำแหน่งจากเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมระบุว่าวันที่ 12 มิถุนายน เหยี่ยวดำอยู่ในเขตแดนของประเทศอินเดีย บริเวณรัฐฌาร์ขันฑ์ เคลื่อนที่ต่อไปทางทิศตะวันตก โดยในวันที่ 14 มิถุนายน มีตำแหน่งอยู่ในรัฐมัธยประเทศ อาศัยหากินอยู่ในรัฐนี้จนถึงวันที่ 6 กรกฏาคม แล้วเริ่มมุ่งหน้าสู่รัฐราชสถานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

    ตำแหน่งของเหยี่ยวดำ เป็นบริเวณทิ้งซากสัตว์จอร์เบียตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

    เดือนตุลาคมเหยี่ยวดำ เคลื่อนมาอาศัยในรัฐมหาราษฏระทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดีย ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเหยี่ยวดำอยู่ในเขตเมืองมุมไบ แล้วเริ่มอพยพลงทางทิศใต้สู่รัฐกัว ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย

    เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2564 เหยี่ยวดำอพยพทางทิศใต้ ไปยังรัฐทมิฬนาฑูเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่เมืองเจนไน ฝั่งอ่าวเบงกอล แล้วลัดเลาะริมฝั่งอ่าวเบงกอลขึ้นทิศเหนือผ่านรัฐอานธรประเทศจนถึงเดือนมีนาคม แล้วเดินทางต่อไปยังรัฐโอริสสาและเบงกอลตะวันตกตามลำดับ เข้าสู่เขตประเทศบังคลาเทศในวันที่ 6 มีนาคม เข้าสู่เขตประเทศอินเดียในรัฐมิโซรัมในวันที่ 9 มีนาคม จากนั้นวันที่ 10 มีนาคม ตำแหน่งของเหยี่ยวดำเข้าสู่เขตประเทศเมียนมาร์อพยพลงสู่ทางทิศใต้จนถึงชายหาดอ่าวเมาะตะมะ ในเขตอิรวดีในวันที่ 15มีนาคม แล้วบินข้ามมหาสมุทรเวลา 09.00 น. แล้วพักอาศัยเกาะ North Island วันที่ 16 เวลา 24.00 น. ใช้เวลาบินข้ามทะเลรวม 15 ชั่วโมง แล้วเกาะนอนในเขตตะนาวศรี

    วันที่ 17 มีนาคม เหยี่ยวดำบินเข้าเขตประเทศไทยทางอ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี วันที่ 18 มีนาคม บินผ่านจ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มุ่งหน้าทางเหนือตามฝั่งทะเลอ่าวไทยผ่านจ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ปทุมธานีพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรีลพบุรีชัยนาท นครสวรรค์

    วันที่ 23 มีนาคม เกาะนอนบริเวณ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์อยู่อาศัยในบริเวณนั้นและจ.ใกล้เคียง     

    จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564 เหยี่ยวดำ รหัส R96 เดินทางเข้าสู่ อ.ปากพลี จ.นครนายก ถิ่นกำเนิด เกาะนอนในพื้นที่ทุ่งใหญ่สารพัดประโยชน์ ห่างจากรังที่เกิดประมาณ 3 กิโลเมตร

    รวมระยะทางการอพยพ ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 – 10 เมษายน พ.ศ. 2564 เท่ากับ 14,093.94 กิโลเมตร

    ความลับการอพยพของลูกเหยี่ยวดำไทย ได้รับการเปิดเผยจากงานวิจัยด้วยข้อมูลน่าเชื่อถือให้เห็นที่มาที่ไปอย่างชัดแจ้ง

    ย่อมส่งผลให้การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนรู้มีความเป็นระบบยิ่งขึ้น




นาก เกิด/ฟักจากไข่ 7/8 กพ 2563

ติดดาวเทียมขณะอยู่ในรัง 9 เมย. 2563

16 พค 2563 บินออกจากปากพลี

18 พค. บินออกจากประเทศไทย ที่จ.กาญจนบุรี

18 มีค บินกลับมาประเทศไทย ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

10 เมย นากบินกลับมาถึง ทุ่งใหญ่ปากพลี  เวลา 14.55น

 

รวมเวลาเดินทาง 10เดือน 24 วัน

ระยะทาง14,093.94 กม.

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

วิจัยติดปีก สะกดรอยเหยี่ยวดำ 4,000ไมล์.. ไทย เมียนมา อินเดีย!!

วิจัยติดปีก

สะกดรอยเหยี่ยวดำ

4,000ไมล์.. ไทย เมียนมา อินเดีย!! 


 สรรพสิ่งในโลก ต้นไม้ สายน้ำ สัตว์ป่า ไม่เว้นแม้แมลงตัวนิด ล้วนสัมพันธ์ สำคัญ ต่อมนุษย์และทุกชีวิต ขาดส่วนใดสักเสี้ยว ก็อาจทำให้ความปกติ กลายพันธุ์ พิกล พิการได้

การเฝ้าดู รู้ตาม ศึกษาวิจัย เสริมเพิ่มภูมิปัญญา หาประโยชน์ เพื่อรักษาสมดุลให้โลกและมนุษย์ จึงเป็นปัจจัยที่จำเป็นยิ่ง




 การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเหยี่ยวดำไทย (Milvus migrans govinda:มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ) ของ ผศ.. สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าโครงการวิจัยเหยี่ยวดำชนิดย่อยประจำถิ่นในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นงานพัฒนาภูมิปัญญา เพื่อการเรียนรู้ การอนุรักษ์แก่ชุมชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนต่อยอดสู่การศึกษาสำหรับดูแลทรัพยากรโลก

 ก่อนการวิจัยนี้จะเกิด วันหนึ่ง เมื่อสักสิบปีที่ผ่านมา ราษฎรท้องที่ ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก สังเกตว่า มีนกเหยี่ยวสีดำตัวเขื่องฝูงใหญ่ทยอยลงอาศัยเกาะต้นยูคาลิปตัสบนแปลงที่สาธารณะ โอบล้อมด้วยที่นากว่า 47,000 ไร่ ที่มีลักษณะเฉพาะ มีน้ำท่วมสูง2 เมตร ชาวนาต้องเลือกข้าวพันธุ์หนีน้ำ ลำต้นยาว ให้รวงออกพ้น ไม่ต้องทนสำลัก จนถึงวันเก็บเกี่ยว



     ชาวบ้านแถวนั้น ส่วนใหญ่ มั่นคงในศีลธรรม มีชีวิตบนความพอเพียง นกจึงปลอดภัย ไม่มีใครทำร้าย ทั้งได้อยู่กับแหล่งอาหารโปรตีนหลักคือหนูนา ที่เป็นศัตรูของต้นข้าว เกิดสถานะการพึ่งพากันอย่างดี

 สิทธิชัย อิ่มจิตรเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งมีที่ทำกินใกล้จุดพักของเหยี่ยว เฝ้ามองความเป็นไป สังเกตจำนวนที่เพิ่มขึ้นในปีถัดมา ทั้งด้วยความที่อยู่ใกล้ และจิตใจเมตตา สื่อให้สัตว์ปีกฝูงใหญ่วางใจ ไม่ตื่นหนี ถึงขั้นเดินไปได้ถึงโคนต้น เจอลูกนกตกจากรังก็ประคองคืน ถ้ารังเสียหายก็เก็บมาเลี้ยง ป่วยก็ส่งรักษา

 สิทธิชัย อิ่มจิตร

 ที่สุดก็รู้ถึงนักวิจัย น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ซึ่งติดตามค้นคว้าเรื่องราวของเหยี่ยว นกอินทรีย์ แร้ง เหล่าสัตว์ปีกนักล่ามาหลายปี เข้าพื้นที่ศึกษาอย่างละเอียดเป็นระบบ ตั้งแต่การจำแนกสายพันธุ์ การนับจำนวน ส่วนใหญ่ เหยี่ยวอพยพเหล่านี้คือ เหยี่ยวดำใหญ่ หรือเหยี่ยวหูดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Milvus migrans lineatus (มิลวัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส) มีราวๆ 2,000 ตัว ในบริเวณนั้น ยังมีเหยี่ยวดำไทย(Milvus migrans govinda:มิลวัส ไมแกรนส์ โกวินทะ) รวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามาจากไหน

สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว 


 คณะวิจัยได้นำลูกเหยี่ยวดำไทย ตั้งชื่อนากรหัส R96 ซึ่งเกิดที่ อ. ปากพลี จ.นครนายก ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียม หรือจีพีเอส จีเอสเอ็ม แทร็กเกอร์ เพื่อให้ส่งตำแหน่งที่บิน กลับมา ด้วยสัญญาณโทรศัพท์มือถือจีเอสเอ็ม เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กน้ำหนักไม่เกิน3% ของตัวนก รัดไว้ด้านหลัง ในตำแหน่งไม่รบกวน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์



                ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก ที่เอาอุปกรณ์ติดตามด้วยดาวเทียมเหน็บหลังเหยี่ยวดำไทย เพราะไม่เคยมีใครทำ จะมีก็แต่ทีมนักวิจัยอินเดียเคยเอาดาวเทียมติดเหมือนกัน แต่ทำกับเหยี่ยวดำใหญ่ หรือ เหยี่ยวหูดำ เหยี่ยวดำอพยพ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มิลลัส ไมแกรนส์ ลิเนียตัส (Milvus migrans lineatus)



หลังจากเจ้านากผละจากรังสักพัก ก็ได้ข้อมูลกลับมาจากการส่งสัญญาณดาวเทียม น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกสรดอกบัว เปิดเผยว่า ลูกเหยี่ยวตัวนี้ ออกจากไข่ในเดือน กพ. 63 จากนั้นพ่อ แม่ ก็หาอาหารมาป้อน จนโตขึ้นและสอนบิน การหาอาหาร อีกราว 2 เดือน แล้วก็บินจากไป ในเดือน พ.ค. 63 เจ้านาก ก็ออกเดินทาง

” นาก ออกเดินทาง จากปากพลี ออกไปทาง จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ออกจากประเทศไทย ที่ จ.กาญจนบุรี เข้าเขตเมียนมาร์ ที่เมืองทวาย เลาะชายฝั่งทะเล ขึ้นทางเหนือ อพยพผ่านเนปิดอร์ เมืองหลวงประเทศ เมียนมาร์ ไปทางบังคลาเทศ ล่าสุดขณะนี้ อาศัยอยู่ในรัฐคานัทฑะกะ ประเทศอินเดีย รวมระยะทางอพยพ 4,000 กิโลเมตร “ น.สพ.ดร.ไชยยันต์ กล่าวและขยายความว่า การติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม ทำให้ได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเหยี่ยวดำไทย ที่เคยเข้าใจว่าเป็นนกประจำถิ่น อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่จริง มันมีการเดินทางไกลเส้นทางอพยพถึงประเทศอินเดีย


ทั้งมีช่วงหนึ่ง คือ ตอนเดินทางเหนือชายฝั่งทะเล นอกเขตประเทศไทยถึงเมียนมาร์ นากบินกลางคืน ซึ่งข้อมูลเดิม เข้าใจกันว่าเหยี่ยวเดินทางเฉพาะกลางวัน

สิ่งที่ทีมวิจัย ติดใจก็คือ การเดินทางของเจ้านาก เป็นการบินตามลำพัง หรือตามฝูงอื่น แต่ไม่ใช่ไปพร้อมกับพ่อแม่ เนื่องจากบินล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ดังนั้นจึงมีแผนว่า โครงการต่อไป คงต้องติดอุปกรณ์กันทั้งครอบครัว ปีนี้ พ.ศ. 2564 จึงมีแผนติดตามเหยี่ยวดำไทยด้วยดาวเทียมเพิ่มอีก 6 ตัว

 ที่รังก็ติดกล้อง camera trap (แคมเมอร่า แทรป) หรือกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ในธรรมชาติ ศึกษาการใช้ชีวิตอย่างละเอียด


คณะวิจัยสาธิตให้สื่อมวลชนเห็นว่า การติดตั้งอุปกรณ์ ทำอย่างระแวดระวัง ให้มีการรบกวนวิถีชีวิตน้อยที่สุด ตัวเครื่องรับสัญญาณดาวเทียวก็มีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน การทำวิจัย จะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน

ถึงตรงนี้ มักมีคำถามว่า ลงทุนขนาดนี้ เพื่อ... คำตอบก็คือ ให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้านของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เรียนรู้ผ่านชีวิตของสัตว์ หากจะมีปัญหาไม่พึงประสงค์ ก็อาจเห็นสัญญาณบางอย่างได้ก่อนจะเกิด


สำหรับบางคน ฟังแล้ว ยังยากจะเข้าใจ แต่ก็มีมุมที่การยอมรับกันทั่วไปว่า การมีเหยี่ยวอพยพมาอาศัยที่ อ.ปากพลี จ.นครนายก จำนวนมาก ย่อมเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งกับคนทั่วไปที่เริ่มสนใจศึกษาธรรมชาติ จนถึงทัวริสต์ต่างแดนที่ท่องโลกเพื่อศึกษาชีวิตสัตว์ ซึ่งจะหมายถึงการสร้างโอกาสและรายได้กระจายและตกทอดยังท้องถิ่นต่าง ๆ ชุมชนเองก็จะเกิดความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเมื่อรู้จักมากยิ่งขึ้นจากงานวิจัย ก็จะได้ช่วยกันถนอมรักษาให้ดีและถูกทาง

เข้าใจนะว่า งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์สำคัญต่อมนุษย์ยังไง...