ดาวอังคารใกล้โลก
โชว์ตัวราศีสิงห์
ดาวอังคารสีส้มอมชมพูโคจรใกล้โลกอีกแล้ว
คราวนี้โผล่ในกลุ่มดาวสิงโต ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกค่ำวันที่3-6 มี.ค.
รายงานข่าวจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยแจ้งว่าปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลก
ประมาณ 0.67 หน่วยดาราศาสตร์ (เอยู) แต่ละหน่วยมีค่า 149.6
ล้านกิโลเมตร หรือห่างราว 100 ล้าน กม. จะเกิดขึ้นอีกครั้ง คืนวันที่ 5-6 มี.ค.55 สามารถชมได้ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. และสมาคมจะตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้ชมช่วงค่ำ
พร้อมกับจัดบรรยายความรู้เกี่ยวกับดาวดวงนี้ ในวันที่ 3 มี.ค.เวลา
16.00 น.โดยนายอารี สวัสดี นายกสมาคม ที่ที่ทำการสมาคม ชั้น 1
อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถนนสุขุมวิท เอกมัย
น.ส.ประพีร์
วิราพร เลขาธิการสมาคม กล่าวว่าครั้งนี้ดาวอังคารโคจรในกลุ่มดาวจักรราศีสิงห์ ในทางดาราศาสตร์ไม่มีความหมายถึงผลกระทบใดต่อโลก
การเข้าใกล้โลก เป็นเพราะดาวอังคาร ซึ่งอยู่ลำดับที่ 4 โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ในทิศทางตรงข้าม
จึงทำให้เห็นได้ชัดเป็นสีแดงด้วยตาเปล่า ตั้งแต่วันที่ 2-3 มี.ค.โดยดูได้ทางทิศตะวันออกหลังดวงอาทิตย์ตก
ในระดับ 30 องศา แต่การตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ผู้สนใจทางดาราศาสตร์ได้ชมขั้วน้ำแข็งของดาวอังคาร
ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาว
เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทยกล่าวว่า การที่สมาคมให้ความสนใจกับดาวอังคาร
เพราะเป็นดาวที่มีลักษณะคล้ายโลก มีแกนเอียง 24 องศา
และฤดูกาลคล้ายกัน ขั้วน้ำแข็งที่เห็นจะอยู่ทางเหนือ โดยน้ำแข็งบนดาวอังคารมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หรือน้ำแข็งแห้ง มีน้ำในสัดส่วนน้อยกว่า ซึ่งองค์การอวกาศสหรัฐหรือนาซา
ได้ติดตามสำรวจมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ละทิ้งแม้แต่โครงการเดียวเพราะถือเป็นแหล่งใหม่ที่ต้องค้นหา
ทั้งมีแผนจะส่งมนุษย์ลงไปเก็บตัวอย่างหินในอนาคตอันใกล้หลังจากส่งหุ่นยนต์ติดกล้องลงไปสำรวจมาแล้ว
และที่ผ่านมาเมื่อพบร่องหลุมต่างๆ ก็ให้ข้อมูลกับประเทศต่างๆ พร้อมกับขอให้ทุกประเทศตั้งชื่อหลุมที่พบ
โดยไทยได้ใช้ชื่ออำเภอต่างๆ ตั้งให้กับหลุมนั้นๆกว่า 10 จุด เช่น
จัตุรัส มาจากอ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ
นายวรเชษฐ์
บุญปลอด กรรมการวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย เขียนรายงานบนเว็บไซต์สมาคม (http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/2012mars.html) ว่า ดาวอังคาร มีสีส้มอมชมพู จึงได้รับฉายา
“ดาวเคราะห์สีแดง” หรือ “ดาวแดง” ไม่กะพริบแสงหรือกะพริบน้อย ๆ เป็นดาวที่มีแสงน้อย
พื้นผิวสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ไม่ดี
การจะมองเห็นจึงต้องอาศัยช่วงโคจรตรงข้ามดวงอาทิตย์หรือมาใกล้โลก ราว 2 ปีครั้ง และคราวนี้ โคจรในกลุ่มดาวสิงโต มีดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกูลัส (Regulus)
เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด ดาวอังคารอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของดาวหัวใจสิงห์