ข่าวสาร วิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มทร.ธัญบุรี ได้เหรียญทองสื่อบรรยายวิดีโอช่วยคนพิการ

 

มทร. ธัญบุรี คว้าเหรียญทองสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมนานาชาติ จากเซี่ยงไฮ้

ด้วยผลงานสื่อเสียงบรรยายภาพ Audio Description (AD) ช่วยให้คนพิการสายตาดูวิดีโอได้ชัดขึ้

กุลภัสสร์ กาญจนภรางกูร


รายงานข่าวจากสำนักงานการวิจัย (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  แจ้งว่า  คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย กุลภัสสร์ กาญจนภรางกูร อาจารย์ สาขาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ งานแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 5 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน( “The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo” ) (เดอะ ฟิฟธ์ ไชน่า (ชางไฮ) อินเตอร์เนชั้นแนล อินเวนชั่น แอนด์ อินโนเวชั่น เอ็กซโป) ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15 – 17 เมษายน 2564

 



        อาจารย์ กุลภัสสร์ กล่าวว่า สื่อเสียงบรรยายภาพ Audio Description (AD) คือ สื่อชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจเนื้อหาของสื่อที่ได้รับชมมากยิ่งขึ้น ลักษณะของผลงานนวัตกรรม คือการบรรยายด้วยเสียง ในช่วงที่ไม่มีการพูดคุย ไม่มีการสนทนา ซึ่งเป็นช่องว่างของวีดีโอ ที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์อะไร เสียงบรรยายภาพ จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ว่าเหตุการณ์ในฉากนั้น ดำเนินไปอย่างไร ตัวละครกำลังทำอะไร ทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจในเนื้อหาสาระของเรื่อง

 



 ในการดำเนินการ เริ่มโดยการนำคลิปวีดิโอหนังสั้น มาตรวจหาช่องว่างระหว่างบทสนทนาของตัวละครหรือเสียงบรรยาย เพื่อให้ได้ระยะเวลาของช่องว่างที่จะบันทึกเสียงบรรยายภาพลงไป จากนั้นจึงเขียนบทเสียงบรรยายภาพ เมื่อได้บทเสียงบรรยายภาพเรียบร้อยแล้ว จึงทดลองลงเสียง และอาจปรับการใช้คำหรือประโยคให้พอดีกับช่องว่างของเวลา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องพิจารณาการใช้คำที่เหมาะสม และผู้พิการทางสายตาจะเข้าใจได้ กับต้องใช้ประโยคข้อความที่พอดีกับช่องว่างของเวลา ให้ได้ความหลากหลาย ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ แล้วจึงบันทึกเสียง เข้าสู่โปรแกรมตัดต่อให้ภาพและเสียงบรรยายสัมพันธ์กัน ขั้นสุดท้ายเป็นการตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง จนเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ 

 




รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สื่อวีดีโอนี้ เป็นผลงานของนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ นำมาต่อยอด เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลงานสื่อดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์และศึกษางานวิจัย แต่ยังเป็นการฝึกฝนให้กับนักศึกษาในสาขาวิชาได้เห็นว่า ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่นอกจาก ช่างภาพ นักตัดต่อ ผู้ประกาศ และนักข่าวเท่านั้น งานผู้ผลิตเสียงบรรยายก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ และทำประโยชน์ให้กับสังคมได้

 


        ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัย กล่าวว่า  วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมการประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติต่อเนื่อง ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทย เป็นที่รู้จัก นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงาน เปิดโอกาสการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ทั้งเป็นช่องทางให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะนำไปสู่ผลงานที่ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับจากผู้ใช้งาน เป็นที่ต้องการทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น